ชื่อสมุนไพร: ว่านลิ้นมังกร
ชื่ออื่นๆ : ว่านหางนาง, ว่านงูเห่า, ว่านลิ้นงูเห่า, ว่านลิ้นเหี้ย, ว่านหางเสือ, ว่านจระเข้
ชื่อสามัญ : Mother-in-law’s to
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sansevieria thyrsiflora Thunb.
ชื่อวงศ์ : Agavaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นว่านลิ้นมังกร ไม้ล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน ลักษณะหัวจะเป็นไหลเลื้อยแล้วแทงขึ้นเป็นกอเหนือดิน ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่ร้อนได้ดี
- ใบว่านลิ้นมังกร รูปใบหอก หนา แข็ง เรียว ยาว 1-3 ฟุต กว้าง 2-3 นิ้ว ผิวและขอบเรียบมัน สีเขียว มีลายขวางคล้ายลายเสือสีขาว และอีกชนิดหนึ่งใบเล็กกว่าชนิดเเรก สีเขียว ลายดำ เกิดอยู่ตามป่าเขาทั่วไป ชนิดขอบเหลืองเรียกว่า ว่านศรนารายณ์
- ดอกว่านลิ้นมังกร ออกดอกเป็นช่อ โดย 1 ช่อ มีดอกจำนวนมากกระจายออกแบบช่อซี่ร่ม ไม่มีใบประดับรองรับ มีกลีบดอก 5 ดอก สีขาวหรือเขียวอ่อน
- ผลว่านลิ้นมังกร ผลมีเนื้อนุ่ม จะมีลักษณะกลมโต เท่าเมล็ดข้าวโพด เมื่อผลสุกจะเป็นสีแดง
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ
สรรพคุณ ว่านลิ้นมังกร :
- ใบ รสเย็น เป็นยาถอนพิษอักเสบ ปวดบวม แก้พิษตะขาบ แมงป่อง ถอนพิษต่างๆ โดยการโขลกแล้วพอกบาดแผล ซึ่งถือว่าเป็นว่านที่มีสรรพคุณในการถอนพิษได้ดี
- ถอนพิษต่างๆ โดยใช้ใบสดของว่านประมาณ 50-70 กรัม มาหั่นแล้วโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรงพอประมาณ แล้วพอกบาดแผลหรือบริเวณที่โดนพิษ
- ว่านลิ้นมังกรมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ
ชนิดใบสีเขียวยาว 1-2 ฟุต มีลายขวางคล้ายลายเสือ เป็นสีเขียวๆ ขาวๆ
อีกชนิดใบจะโตขนาดเดียวกันและเหมือนกันแต่มีริมใบสองข้างเป็นสีเหลือง
ชนิดที่ 3 ใบเล็กและสั้น ใบมีสีเขียวล้วนและมีลายดำทั้งใบ
มักขึ้นตามป่าบนเขาทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่นิยมปลูกทำรั้วล้อมต้นไม้อื่นหรือเป็นรั้วสำหรับทางเดินในบ้าน ลิ้นมังกรเป็นพืชกลางคืน ปิดปากใบเวลากลางวัน เปิดปากใบเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหยในแสงแดดที่ร้อนจัด และเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พร้อมทั้งคายความชื้นและปล่อยก๊าซออกซิเจนออก พืชจะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เก็บไว้ในตอนกลางคืนมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงในตอนเช้า