ชื่อสมุนไพร : กกสามเหลี่ยม
ชื่ออื่นๆ : กก, กกตะกลับ, กกตาแดง, กกปรือ (กรุงเทพฯ, ภาคกลาง), กกคมบาง (ประจวบคีรีขันธ์), มะนิ่ว, มะเนี่ยว (เหนือ), แห้วกระดาน, แห้วหิน (ภาคตะวันตกเฉียงใต้)
ชื่อสามัญ : coarse bullrush, greater club rush
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Actinoscirpus grossus (L.f.) Goetgh & D.A.Simpson
ชื่อวงศ์ : CYPERACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกกสามเหลี่ยม วัชพืชอายุยืนหลายฤดู ลำต้นเจริญเติบโตเป็นกอ มีลำต้นใต้ดินแตกไหลได้ ลำต้นมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม พุ่มต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร
- ใบกกสามเหลี่ยม ใบค่อนข้างแข็ง แผ่นใบแคบ เรียวยาวรูปใบหอก ขอบใบเรียบ ใบยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร
- ดอกกกสามเหลี่ยม ดอก ออกเป็นช่อชนิดโคริมบ์ (corymb) ประกอบด้วยช่อดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยไม่มีก้านดอก เกิดลักษณะเวียนรอบก้านดอกอย่างหนาแน่น ดอกอ่อนเป็นสีเหลืองอ่อนอมเขียว และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ ดอกออกเป็นแบบช่อแยกแขนง มีแกน เรียงกันคล้ายก้านร่ม ช่อดอกย่อยรูปไข่ ยาว 5 – 10 มิลลิเมตร กว้าง 3.5 – 4 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม กลีบรองดอก รูปรีหรือรูปไข่ ผิวบาง ยาว 2.5 – 3 มิลลิเมตร กว้าง 1.8 – 2 มิลลิเมตร อับเรณู 3 อัน
- ผลกกสามเหลี่ยม ผลขนาดเล็กรูปไข่กลับสีน้ำตาลเข้ม ยาว 1-2 มิลลิเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัว, ราก
สรรพคุณ กกสามเหลี่ยม :
- หัว รสฝาดหวาน แก้ท้องเสีย แก้อาเจียน
- ราก รสฝาดหวาน สมาน ลดไข้ บำรุงตับ ขับปัสสาวะ แก้ท่อน้ำดีอักเสบ แก้ท้องเสีย แก้อาเจียน ระบายท้อง
ถิ่นอาศัย และการขยายพันธุ์
- พบในบริเวณที่มีน้ำขัง อ่างเก็บน้ำ บ่อเลี้ยงปลาและตามคลองส่งน้ำทั่วประเทศไทย ขยายพันธุ์โดยใช้ไหลและเมล็ด
ประโยชน์ : สามารถนำมาทอเสื่อ จักสานเป็นฝาบ้าน ฝ้าเพดานหรือหลังคาบ้าน นอกจากนี้ยังสามารถทำเป็นตะกร้าและกระเป๋าได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. สารานุกรมสมุนไพร. โอเดียนสโตร์:กรุงเทพมหานคร.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. 2559. “กกสามเหลี่ยม.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?words=กกสามเหลี่ยม&typeword=group (24 มิถุนายน 2560)
- wikipedia. “กกสามเหลี่ยมใหญ่.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/กกสามเหลี่ยมใหญ่ (24 มิถุนายน 2560)