ชื่อสมุนไพร : กระเจี๊ยบมอญ
ชื่ออื่นๆ : กระเจี๊ยบ, มะเขือทวาย, มะเขือมอญ(ภาคกลาง), มะเขือพม่า, มะเขือมื่น, มะเขือละโว้(ภาคเหนือ), กระเจี๊ยบเขียว
ชื่อสามัญ : Ladies’ Finger, Lady’s Finger, Okra
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Abelmoschus esculentus (L.) Moench
ชื่อวงศ์ : MALVACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกระเจี๊ยบมอญ เป็นไม้ล้มลุก สูง 0.5-2 เมตร มีขนทั่วไป
- ใบกระเจี๊ยบมอญ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับรูปไข่หรือค่อนข้างกลม กว้าง 10-30 เซนติเมตร ปลายหยักแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ เส้นใบออกจากโคนใบ 3-7 เส้น
- ดอกกระเจี๊ยบมอญ มีขนาดใหญ่ ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ มีริ้วประดับ (epicalyx) เป็นเส้นสีเขียว 8-10 เส้น เรียงเป็นวงรอบโคนกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง โคนกลีบสีม่วงแดง รูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดยาว 2-3 เซนติเมตร หุ้มเกสรเพศเมียไว้ อับเรณูเล็กจำนวนมากติดรอบหลอด ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นกลมขนาดเล็ก สีม่วงแดง ยื่นพ้นปากหลอดดอก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล, ดอก
สรรพคุณ กระเจี๊ยบมอญ :
- ผลแห้ง ป่นนำมาชงกับน้ำ กิบบำบัดโรคกระเพาะอาหาร เพราะมีเพคตินเเละสารเมือกช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร แก้ไอ บำรุงกำลัง
- ผลอ่อน เป็นยาหล่อลื่น ใช้ในโรคหนองใน
- ดอก ลดไขมันในเลือด ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้กระหายน้ำ
ข้อมูลเพิ่มเติม :
- ยาแผนโบราณของจีน ใช้ราก เมล็ด และดอก เป็นยาขับปัสสาวะ
- วิธีและปริมาณที่ใช้ : แก้พยาธิตัวจิ๊ด โดยเอาผลกระเจี๊ยบมอญที่ยังอ่อนมาปรุงเป็นอาหารกิน เช่น ต้มหรือย่างไฟให้สุก จิ้มกับน้ำพริกหรือทำแกงส้ม กินวันละ 3 เวลาทุกวัน วันละ 4 – 5 ผล ติดต่อกันอย่างน้อย 15 วัน
- ฝักอ่อนมีคุณค่าทางอาหารสูง กินได้ ในต่างประเทศบรรจุเป็นอาหารกระป๋องหรืออาหารแช่แข็ง เมล็ดแก่มีน้ำมันมาก กากเมล็ดมีโปรตีนเหมาะสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์
- เส้นใยจากต้นใช้ทำเชือกและกระดาษ นอกจากนี้โรงงานผลิตน้ำตาลบางแห่งในอินเดียยังนำเมือกจากต้นมาใช้ในกระบวนการทำให้น้ำอ้อยสะอาด
เวลาต้มต้องให้สุกจริงๆ ถ้าไม่สุกจะเหม็นเขียว กินแล้วจะเป็นอันตรายเกิดการเบื่อเมาได้