ขจร

ขจร

ชื่อสมุนไพร : ขจร,
ชื่ออื่น ๆ
: สลิด, ผักสลิดคาเลา, สลิดป่า, ผักสลิด, กะจอน, ขะจอน, ผักขิก
ชื่อสามัญ : Cowslip creeper
ชื่อวิทยาศาสตร์ Telosma minor Craib
วงศ์ : ASCLEPIADACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขจร เป็นไม้ประเภทเถาเลื้อยขนาดเล็กเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น  ซึ่งเถายาวจะสามารถเลื้อยยาวได้มากกว่า 3 – 10เมตร และเถาจะแตกกิ่งจำนวนมาก เถาอ่อน และกิ่งอ่อนมีลักษณะกลม เปลือกเถาสีเขียว แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทา ผิวเป็นตะปุ่มตะป่ำ และจะมีน้ำยางสีใสไหลออกมา ปลายเถาหรือปลายกิ่งมีขนอ่อนปกคลุมซึ่งเถาขจรไม่มีมือเกาะเหมือนไม้เถาเลื่อยอื่นๆ ส่วนเนื้อไม้มีลักษณะแข็ง และเหนียว


  • ใบขจร เป็นใบเดี่ยวออกบริเวณข้อของเถาโดยจะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลมยาวเป็นติ่ง กลางใบกว้างส่วนโคนใบมนเว้า ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ แผ่นใบบาง เกลี้ยง เป็นสีเขียวสด ใบเป็นคลื่นเล็กน้อยและมีขนอ่อนปกคลุม เส้นใบสามารถมองเห็นได้ชัด มี 5 เส้น  ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร


  • ดอกขจร ออกเป็นช่อกระจุกแบบซี่ร่ม โดยจะออกตามข้อลำต้น ง่ามใบหรือปลายกิ่ง และจะมีดอกย่อยเรียงกันเป็นกระจุก ช่อดอกมีก้านดอกสั้นสีน้ำตาลอมเทา ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร พวงดอกหรือช่อดอกแต่พวงจะมีดอกย่อยประมาณ 10-20ดอก ดอกย่อยจะแข็งมีกลิ่นหอม และมีสีเขียวอมสีเหลืองหรือสีส้มบริเวณกลางดอกมีสีเขียว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 2เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ กลีบดอกย่นและบิด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก


  • เมล็ดขจร (ผล) ผลออกเป็นฝัก มีคล้ายฝักถั่วเขียว แต่ยาวกว่า ฝักมีรูปร่างกลม เรียวยาวผิวเกลี้ยง ตัวฝักโค้งเล็กน้อย ปลายฝักแหลม ฝักกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาล และเมื่อฝักที่แก่เต็มที่จะปริแตกแยกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดรูปไข่กว้างลักษณะแบนปลายตัด และมีขนซึ่งจะมีจำนวนมาก


ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก, ยอดอ่อน, ลูกอ่อน, ราก

สรรพคุณ ขจร :

  • ดอกขจร ยอดอ่อน ดอก ลูกอ่อน บำรุงธาตุ บำรุงตับ ปอด แก้เสมหะเป็นพิษ
  • ราก ทำให้อาเจียน ถอนพิษเบื่อเมา ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน รักษาหวัดที่เกิดจากการตากลมหรืออากาศเย็น ช่วยบำรุงตับ บำรุงสายตา บำรุงเลือด บำรุงฮอร์โมนของสตรี ช่วยขับเสมหะ และแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ช่วยบำรุงสายตา บำรุงปอด บำรุงโลหิต บำรุงตับ แก้เสมหะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการหวัด โดยการนำดอกขจร ยอดอ่อน หรือ ผลอ่อนมาประกอบอาหารรับประทาน หรือ ใช้ดอกต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ใช้ถอนพิษเบื่อเมา ทำให้อาเจียน ขับปัสสาวะ โดยการใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

  • ขจร เป็นผักพื้นบ้านที่คนไทยนิยมนำมาประกอบอาหารทั้งคาว และหวานรับประทานมาตั้งแต่อดีตแล้ว ดังเดิมในการนำมารับประทานเป็นอาหารนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ แต่ในการนำมาใช้เป็นสมุนไพรนั้น ควรคำนึงถึงความปลอดภัยเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่น โดยควรใช้ในขนาดที่พอดี ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ และสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ขจรเป็นสมุนไพรเสมอ
Scroll to top