ชื่อสมุนไพร : ข่า
ชื่ออื่น ๆ : ข่า, ข่าใหญ่, ข่าหลวง, ข่าหยวก (เหนือ), เสะเออเคย, สะเชย(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ : Glalangal, Greater Galangal,Chinese Ginger
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia galanga (L.) Willd.
ชื่อวงศ์ : ZINGIBERACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นข่า ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูงประมาณ 1.5-2 เมตร มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า มีข้อและปล้องชัดเจน เลื้อยขนานพื้นดินและแตกแขนงเป็นแง่ง เหง้าหัวมีขนาดใหญ่ด้วนสีขาว ลำต้นเทียมเหนือดินคือส่วนของกาบใบที่หุ้มซ้อนทับกันมีสีเขียวทรงกระบอกกลม เนื้อในสีเหลืองและมีกลิ่นหอมเฉพาะ
- ใบข่า เป็นใบเดี่ยว แตกใบเวียนรอบต้น ลักษณะใบรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบและบางช่วงเป็นคลื่น ปลายใบเป็นติ่งแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบเฉียงและสอบเรียวเข้าหาก้านใบ แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ก้านใบสั้น กว้าง 7-9 เซนติเมตร ยาว 20-40 เซนติเมตร
- ดอกข่า ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ตรงปลายยอด แกนกลางช่อมีขนและดอกดช่อจะจัดอยู่ด้วยกันอย่างหลวมๆ ช่อที่ยังอ่อนจะมีใบประดับรูปไข่ลักษณะเป็นกาบสีเขียวอมเหลืองหุ้มมิด ดอกสีขาวขนาดเล็ก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นปลายแยกเป็น 3 กลีบ กลีบใหญ่มีริ้วสีแดง
- ผลข่า ลักษณะรูปทรงกระบอกหรือกลมรี ขนาดเท่าเม็ดบัว ผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่จะมีสีแดงอมส้ม และภายในมีเมล็ดเล็กๆ สีดำ มีรสขมและเผ็ด ผลแห้งแตกได้
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เหง้าอ่อนและเหง้าแก่, ผล, ต้น, น้ำมันหอมระเหย, ใบ, ดอก, หน่อ, ราก
สรรพคุณ ข่า :
- เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน รสเผ็ดร้อนขม แก้ฟกช้ำ แก้บวม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่น แก้กลาก เกลื้อน ขับลมในลำไส้ แก้ปวดมวนในท้อง รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด ขับลมในสตรีหลังคลอดบุตร ใช้ภายนอกรักษาอาการคันในโรคลมพิษ ช่วยย่อยอาหาร แก้บิด แก้ลมพิษ แก้โรคปวดบวมตามข้อ หลอดลมอักเสบ มีฤทธิ์กดหัวใจ กระตุ้นการหายใจ กดการหายใจ กระตุ้นการหายใจในเด็ก เป็นยาธาตุ
- ผล รสเผ็ดร้อนฉุน ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้บิด แก้แน่นหน้าอก
- ต้นแก่ นำไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อย เป็นตะคริว ใบมีรสเผ็ดร้อน แก้พยาธิ
สารสกัดจากข่า มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย- น้ำมันหอมระเหย น้ำมันหอมระเหยจากข่ามีฤทธิ์ทำให้ไข่แมลงฝ่อ กำจัดเชื้อราบางชนิดได้ ใช้ผสมกับสะเดาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงข่า ลดการบีบตัวของลำไส้ ขับน้ำดี ขับลม ลดการอักเสบ ยับยั้งแผลในกระเพาะอาหาร ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อราใช้รักษากลากเกลื้อน
- ใบ รสเผ็ดร้อน แก้กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิ ต้มอาบแก้ปวดเมื่อยตามข้อ
- ต้น รสเผ็ดร้อนซ่า ต้นแก่โขลกผสมน้ำมันมะพร้าวทาแก้ตะคริว แก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ตามข้อ
- ดอก รสเผ็ดร้อน เป็นยาแก้กลากเกลื้อน
- หน่อ รสเผ็ดร้อนหวาน บำรุงไฟธาตุ แก้ลมแน่นหน้าอก
- เหง้าและราก รสร้อนปร่า ขับลม แก้ปวดท้อง ท้องเสีย จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย
- ราก รสร้อนปร่า ขับเสมหะ ขับโลหิต แก้เหน็บชา ขับหลอดลม
ข้อมูลเพิ่มเติม :
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- รักษาท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องเดิน (ที่เรียกโรคป่วง) แก้บิด อาเจียน ปวดท้อง ใช้เหง้าข่าแก่สด ยาวประมาณ 1-1 ½ นิ้วฟุต (หรือประมาณ 2 องคุลี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำยาดื่ม ครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร
- รักษาลมพิษ ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ที่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอให้แฉะๆ ใช้ทั้งเนื้อและน้ำ ทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น
- รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นโรคผิวหนัง หลายๆ ครั้งจนกว่าจะหาย
- เหง้าแก่สดหรือแห้ง ใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ให้ใช้ประมาณเท่าหัวแม่มือ ใช้สดประมาณ 5 กรัม และแห้งประมาณ 2 กรัม นำมาทุบให้แตกแล้วต้มเอาน้ำดื่ม
- เหง้าสด ใช้รักษาเกลื้อน นำเหง้าสดมาฝนผสมกับเหล้าโรงหรือน้ำส้มสายชู หรือตำแล้วนำมาแช่แอลกอฮอล์ ใช้ทาที่เป็น ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)
- ใช้ข่ารักษาอาการแน่นจุกเสียด ใช้เหง้าสด 5 กรัม หรือเหง้าแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำจนเดือด รินน้ำดื่ม ใช้หัวข่าตำละเอียดผสมน้ำปูนใส 2 แก้ว นำมาดื่ม
- ใช้ข่ารักษากลาก เกลื้อน ใช้เหง้าข่าปอกเปลือก จุ่มเหล้าแล้วเอามาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทาแรงๆ ทำเช่นนี้ 4-5 วัน ก็จะหาย
ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ล้างให้สะอาดฝานเป็นแว่นบางๆ หรือทุบพอแตก นำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้สัก 1 คืน ทำความสะอาดขัดถูบริเวณที่เป็นเกลื้อนจนพอแดงและแสบ แล้วเอาข่าที่แช่ไว้มาทาเฉพาะบริเวณที่เป็นเกลื้อน จะรู้สึกแสบๆ เย็นๆ ทาเช้าและเย็นหลังอาบน้ำทุกวัน ประมาณ 2สัปดาห์ เกลื้อนจะจางลง และหายไปในที่สุด
ใช้เหง้าข่าล้างให้สะอาด ฝานเป็นแผ่นบางๆ นำไปแช่เหล้า 35 ดีกรี ประมาณ 5 นาที แล้วทาที่มีผื่นคัน อาการจะหายไป และถ้าแช่ค้างคืนจะใช้รักษาเกลื้อนได้ดี
ใช้เหง้าข่าสดตัดท่อนละ 1 นิ้ว ทุบให้แตกพอช้ำอย่าถึงกับละเอียด ใส่ถ้วยแช่เหล้าโรงประมาณ 1/4 ถ้วยชา ใช้สำลีชุบทาวันละครั้ง
ใช้เหง้าข่าแก่ๆ นำมาตำพอแหลก แล้วผสมเหล้าหรืออัลกอฮอล์ แช่ไว้ 1 คืน ใช้ทาแก้เกลื้อน หรือกลาก
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
เนื่องจากข่าเป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้มาตั้งแต่โบราณมาแล้ว อีกทั้งใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารที่ใช้รับประทานในชีวิตประจำวันหลายๆเมนู ดังนี้ จึงไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงในการรับประทานข่า แต่อาจจะมีข้อควรระวังในอาการข้างเคียงอยู่บ้าง ในกรณีการใช้ข่าเป็นยาสมุนไพรที่ใช้ทาทางผิวหนัง เนื่องจากบางคนอาจจะแพ้ข่า โดยอาการที่พบก็คือเมื่อใช้ข่าทาตรงบริเวณที่เป็นโรคผิวหนังแล้ว อาจจะมีอาการแสบร้อนมากก็ควรหยุดใช้ในทันที
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร. โอเดียนสโตร์ : กรุงเทพมหานคร.
- อุทัย สินธุสาร. (2545). สมุนไพร ร้านเจ้ากรมเป๋อ. พิมพ์ครั้งที่ 2 .โรงพิมพ์ธรรมสาร : กรุงเทพมหานคร.
- นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. (2547). สมุนไพรไทย เล่ม 1. ฐานการพิมพ์ จำกัด : กรุงเทพมหานคร.
- เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. (2522). ไม้เทศเมืองไทย สรรพคุณยาเทศและยาไทย. สำนักพิมพ์ เกษมบรรณกิจ : กรุงเทพมหานคร.
- เต็ม สมิตินันทน์. (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช:กรุงเทพมหานคร.
- ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุ กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- นิดดา หงษ์วิวัฒน์. หน่อข่าอ่อน ผักสมุนไพรมีเฉพาะในฤดูฝน. ครัว. ปีที่ 19 ฉบับที่ 228 มิถุนายน 2556
- อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กทม. แม่บ้าน. มปป. หน้า 12-14
- จากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล.