พลับพลึงดอกแดง

พลับพลึงดอกแดง

ชื่อสมุนไพร : พลับพลึงดอกแดง
ชื่ออื่นๆ :
พลับพลึง, พลับพลึงดอกแดงสลับขาว, พลับพลึงใหญ่ดอกสีชมพู, พลับพลึงแดง (กรุงเทพ, ภาคกลาง), ลิลัว (ภาคเหนือ)
ชื่อสามัญ : Giant lily, Crinum lily, Red crinum, Spider lily
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crinum amabile Don
ชื่อวงศ์ : AMARYLLIDACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นพลับพลึงดอกแดง จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีหัวอยู่ใต้ดิน ส่วนที่อยู่เหนือดินขึ้นไปประกอบไปด้วยกาบใบสีขาวหุ้มซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อออกไปปลูกหรือใช้วิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือในพื้นที่ที่มีความชื้นค่อนข้างสูง เช่น หนอง บึง ริมคลอง เป็นต้น
    พลับพลึงดอกแดง
  • ใบพลับพลึงดอกแดง ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงซ้อนสลับกันเป็นวง ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเป็นกาบซึ่งทำหน้าที่เป็นก้านใบห่อหุ้มเป็นเปลือกของลำต้นอยู่ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1 เมตร ใบเป็นสีเขียว ผิวใบอ่อนนุ่ม อวบน้ำ หนา และเหนียว
  • ดอกพลับพลึงดอกแดง ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ ก้านดอกแทงขึ้นออกมาจากกลุ่มของใบตอนปลาย ในหนึ่งช่อดอกจะมีดอกย่อยออกอยู่เป็นกระจุกประมาณ 12-40 ดอก กลีบดอกจะมีสีขาวแกมชมพู หรือกลีบด้านบนของดอกเป็นสีม่วงหรือเป็นสีชมพู ส่วนกลีบด้านล่างเป็นสีแดงเข้มหรือสีแดงเลือดหมู ลักษณะของกลีบดอกจะแคบเรียวยาว เมื่อดอกบานเต็มที่ กลีบของดอกจะงองุ้มเข้าหาก้านดอก ดอกมีเกสรยาวยื่นออกมาจากกลางดอก ดอกมีกลิ่นหอมและจะหอมมากในช่วงพลบคล่ำ สามารถออกดอกได้ปีละครั้ง
  • ผลพลับพลึงดอกแดง เป็นสีเขียวอ่อน และผลค่อนข้างกลม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เมล็ด

สรรพคุณ พลับพลึงดอกแดง :

  • ใบ นำเอามาย่างไฟ พันแก้ฟกช้ำ บวม เคล็ด ขัดยอก ใช้อยู่ไฟหลังคลอด ต้มรับประทานทำให้อาเจียน ในอินเดียใช้เป็นยาระบาย ขับเสมหะ รักษาโรค เกี่ยวกับน้ำดี
  • เมล็ด เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ เป็นยาบำรุง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : 

  1. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. 2539. พจนานุกรม สมุนไพรไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4 .ประชุมทองการพิมพ์: กรุงเทพมหานคร.
  2. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. (2522). ไม้เทศเมืองไทย สรรพคุณยาเทศและยาไทย. สำนักพิมพ์ เกษมบรรณกิจ : กรุงเทพมหานคร.
Scroll to top