เปล้าใหญ่

เปล้าใหญ่

ชื่อสมุนไพร : เปล้าใหญ่
ชื่ออื่นๆ :
  เปล้าหลวง(เหนือ), เปาะ(กำแพงเพชร), ควะวู(กาญจนบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Croton persimilis Müll.Arg.
ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • เปล้าใหญ่ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูงประมาณ 8 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลเทา มีรอยแตกบ้างเล็กน้อย กิ่งก้านค่อนข้างใหญ่ ยอดอ่อน ใบอ่อน และช่อดอก มีเกล็ดสีเทาเป็นแผ่นเล็กๆปกคลุมทั่วไป
  • ใบเปล้าใหญ่ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนาน รูปไข่หรือรูปใบหอก ใบลู่ลง ใบรียาว กว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 9-30 เซนติเมตร ใบอ่อนสีน้ำตาล โคนใบและปลายใบแหลมหรือมน ขอบใบจักเป็นซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ ใบแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ก้านใบยาว 1.3-6 เซนติเมตร ฐานใบมีต่อม 2 ต่อม หลังใบเรียบสีเขียวเข้ม ท้องใบมีขนไม่มาก ใบแก่สีเปลี่ยนเป็นสีส้มก่อนร่วงหล่น
    เปล้าใหญ่ เปล้าใหญ่
  • ดอกเปล้าใหญ่ ดอกช่อออกที่ปลายกิ่ง หลายช่อ ช่อดอกยาว 12-22 เซนติเมตร ตั้งตรง ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน หรือแยกต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ทยอยบานจากโคนช่อไปหาปลาย ดอกตัวผู้สีขาวใส กลีบดอกสั้นมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกติดกัน มีกลีบเลี้ยงรูปขอบขนานกว้างๆ 5 กลีบ หลังกลีบเลี้ยงมีเกล็ดสีน้ำตาล กลีบดอกยาวเท่ากับกลีบเลี้ยง มีขนหนาแน่น ที่ฐานดอกมีต่อมกลมๆ 5 ต่อม เกสรตัวผู้มี 12 อัน เกลี้ยง ดอกตัวเมียวสีเหลืองแกมเขียว กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเล็กรูปยาวแคบ ขอบกลีบมีขน โคนกลีบดอกติดกัน ปลายกลีบดอกแหลม กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน รังไข่รูปขอบขนาน มีเกล็ด
  • ผลเปล้าใหญ่ ผลแห้งแตก รูปทรงกลมแบน มี 3 พู ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวเรียบ ด้านบนแบน มีเกล็ดเล็กๆห่างกัน ผลอ่อนสีเขียว ผลอ่อนใช้ย้อมผ้า ผลแก่รับประทานได้

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ดอก, ผล, เปลือก, กระพี้, แก่น, เนื้อไม้, ราก

สรรพคุณ เปล้าใหญ่ :

  • ใบ มีรสร้อน เมาเอียน เป็นยาบำรุงธาตุ แก้คันตามตัว แก้ลมจุกเสียด เป็นยาบำรุงกำลัง แก้กระหาย แก้เสมหะ และลม
  • ดอก  รสร้อน เป็นยาขับพยาธิ
  • ผล รสร้อน เมาเอียน ดองสุราดื่มขับเลือดหลังคลอด ขับน้ำคาวปลา
  • เปลือกต้นและกระพี้ รสร้อน เมาเย็น เป็นยาช่วยย่อยอาหาร แก้เลือดร้อน
  • เปลือกต้น และใบ แก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต น้ำต้มเปลือกต้น กินแก้ไข้ แก้ตับอักเสบ แก้ปวดข้อและปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
  • แก่น รสร้อนเมาเย็น ขับพยาธิไส้เดือน ขับเลือด ขับหนองให้ตก แก้ลมอันผูกเป็นก้อนให้กระจาย
  • ราก รสร้อนเมาเย็น ขับลมและแก้โรคผิวหนังผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย แก้โรคเรื้อน มะเร็ง คุดทะราด กระจายลม ทำน้ำเหลืองให้แห้ง รากต้มน้ำกินแก้โรคเหน็บชา โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย เจริญอาหาร และแก้ร้อนใน
  • เนื้อไม้ รสร้อน แก้ริดสีดวงลำไส้และริดสีดวงทวารหนัก
  • เมล็ด  กินเป็นยาถ่าย
Scroll to top