กระดังงาสงขลา

กระดังงาสงขลา

ชื่ออื่น : กระดังงาสงขลา, กระดังงาสาขา, กระดังงาเบา(ภาคใต้), กระดังงอ(มาเลย์-ยะลา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cananga odorata (Lam.) Hook. f. & Th. var. fruticosum (Craib) J. Sinclair.
ชื่อวงศ์ : ANNONACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกระดังงาสงขลา ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-3 เมตร ลักษณะเปลือกต้นสีเทาเกลี้ยง กิ้งก้านแผ่ออกจากลำต้น และมักจะลู่ลง ส่วนที่อ่อนอยู่มีขนบาง ๆ ปกคลุก
  • ใบกระดังงาสงขลา ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปขอบขนาน เบี้ยวเล็กน้อย ยาวได้ประมาณ 14 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ก้านใบยาว 1-2.5 เซนติเมตร
  • ดอกกระดังงาสงขลา ดอกมีกลิ่นหอม สีเหลืองอมเขียว ออกรวมกันเป็นกลุ่ม 4-6 ดอก ตามกิ่งซึ่งใบร่วงหลุดไปแล้ว กลีบรองดอกมี 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม มีขนปกคลุม กลีบดอกห้อยลงมา 6 กลีบ แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นนอก 3 กลีบ รูปกลีบแคบยาว ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบมักจะม้วนหรือหยักเป็นคลื่นหรือบิดเป็นเกลียว ส่วนกลีบชั้นในมี 3 กลีบสั้นกว่าเล็กน้อยสีเหลืองอมเขียว โคนสุดเป็นสีม่วงอมน้ำตาล ออกดอกได้ตลอดปี
     
  • ผลกระดังงาสงขลา ผลกลุ่ม ผลย่อยมี 8-10 ผล รูปรี ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร อยู่รวมกันเป็นพวง มีสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จะมีสีดำ

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก, เนื้อไม้, ราก, ต้น, เปลือก, ใบ, เกสร

สรรพคุณ กระดังงาสงขลา :

  • ดอกกระดังงาสงขลา รสสุขุมหอม เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ บำรุงเลือด แก้ไข้ แก้อ่อนเพลีย วิงเวียน จุกเสียด
  • เนื้อไม้ รสขมเฝื่อน ขับปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ
  • รากกระดังงาสงขลา คุมกำเนิด
  • ต้น, กิ่งก้าน เป็บยาขับปัสสาวะ
  • เปลือกต้นกระดังงาสงขลา รักษามะเร็งเพลิง
  • ใบกระดังงาสงขลา รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แก้คัน ปัสสาวะพิการ
  • เกสรกระดังงาสงขลา แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไข้จับ

ข้อมูลเพิ่มเติม :

การแต่งกลิ่นอาหาร ทำได้โดยนำดอกที่แก่จัดรมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียนหอมเพื่อให้ต่อมน้ำหอม ในกลีบดอกแตก และส่งกลิ่นหอมออกมา แล้วนำไปเสียบไม้ ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท 1 คืน เก็บดอกทิ้ง ตอนเช้า นำน้ำไปคั้นกะทิ หรือปรุงอาหารอื่น ๆ

Scroll to top