ชื่ออื่น : กระทุ่มนา, กระทุ่มน้ำ (กลาง); กระทุ่มดง (กาญจนบุรี); ตุ้มน้อย, ตุ้มแซะ, ตุ้มน้ำ(เหนือ); ถ่มนาย (เลย); ท่อมขี้หมู (สงขลา); ท่อมนา (สุราษฎร์ธานี); โทมน้อย (เพชรบูรณ์); กาตูม (เขมร – ปราจีนบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mitragyna diversifolia (Wall. ex G. Don) Havil
ชื่อวงศ์ : RUBIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกระทุ่มนา เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 8-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม
- ใบกระทุ่มนา เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรีที่ค่อนข้างกว้างเกือบกลม กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร ปลายมน โคนมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายหรือเกลี้ยง ก้านใบยาว 0.6-1.3 เซนติเมตร หูใบระหว่างก้านใบ 1 คู่ รูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ยาว 0.5-1.3 เซนติเมตร ปรากฎชัดตามปลายกิ่ง
- ดอกกระทุ่มนา แบบช่อกระจุกแน่น จำนวนมาก ออกตามปลายกิ่ง มีใบประดับขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายใบแซมห่างๆ บริเวณส่วนล่างของช่อ แต่ละช่อเมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกขนาดเล็ก ไม่มีก้านดอก กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงเล็กมาก ติดกันคล้ายรูปถ้วย ขอบตัด กลีบดอกสีนวล ติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีก้านเกสรเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก
- ผลกระทุ่มนา เป็นรูปไข่ มีขนาดเล็ก ผิวแข็งอัดรวมกันเป็นก้อนกลม ผลแห้งแตก เมล็ดมีปีก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เปลือกต้น
สรรพคุณ กระทุ่มนา :
- ใบ รสขมเฝื่อนเมา แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด ปวดมวนท้อง ฤทธิ์เหมือนใบกระท่อมแต่อ่อนกว่า ใช้แทนกันได้
- เปลือกต้น รสฝาดร้อน รักษาโรคผิวหนังทุกชนิด แก้มะเร็งคุดทะราด แก้บิดมูกเลือด
ข้อมูลเพิ่มเติม :
ยาแผนโบราณของไทยใช้ใบกระทุ่มนาแทนใบกระท่อมสำหรับบำบัดโรคท้องร่วงเมื่อขาดแคลนใบกระท่อม ใบกระทุ่มนามีแอลคาลอยด์ประเภท heteroyohimbine และ oxindole หลายชนิดด้วยกัน ได้มีการนำ mitraphylline ซึ่งเป็นแอลคาลอยด์ประเภท oxindole ไปทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าแอลคาลอยด์ชนิดนี้มีสรรพคุณลดความดันโลหิตและออกฤทธิ์กดต่อกล้ามเนื้อเรียบในสัตว์ทดลอง