ชื่อสมุนไพร : กวาวเครือแดง
ชื่ออื่น ๆ : กวาวหัว, จานเครือ, จอมทอง, ตานจอมทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Butea superba Roxb.
วงศ์ : LEGUMINOSAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกวาวเครือแดง เป็นไม้เถายืนต้นที่มีลำต้นขนาดใหญ่ อายุยิ่งมากเท่าไหร่เถาก็จะยิ่งใหญ่และกลายเป็นต้น แต่ยังส่งเถาเลื้อยไปพาดพันตามต้นไม้ที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆ ส่วนต้นหากใช้มีดฟันจะมียางสีแดงคล้ายโลหิตออกมา หากขุดโคนต้น ก็จะพบรากขนาดใหญ่เท่าน่องขาเลื้อยออกมาจากต้นโดยรอบ มีความยาวประมาณ 2 วา ขึ้นอยู่กับอายุและขนาดของลำต้น
- ใบกวาวเครือแดง ใบบาง ลักษณะของใบคล้ายใบทองกวาว แต่ใบจะใหญ่กว่ามาก แต่ถ้าเป็นใบอ่อนจะมีมีขนาดเท่ากับใบพลวงหรือใบของต้นสัก ปลายใบสอบแหลม
- ดอกกวาวเครือแดง ดอกสีส้มเหลืองคล้ายดอกทองกวาว จะออกดอกเป็น บานสะพรั่งอยู่บนยอดดอย หัวอยู่ใต้ดินคล้ายมันสำปะหลัง รูปทรงกระบอกยาว มีหลายขนาด เนื้อในเป็นสีขาว เมื่อสะกิดที่เปลือก จะมียางในตัวสีแดง
ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัว, ราก, เปลือกเถา
สรรพคุณ กวาวเครือแดง :
- หัว รสเย็นเบื่อเมา บำรุงเนื้อหนังให้เต่งตึง บำรุงสุขภาพ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ทำให้หน้าอกโต บำรุงความกำหนัด
- ราก แก้ลมอัมพาต แก้โลหิต ผสมรากสมุนไพรอื่นอีกแปดชนิดเรียกว่า พิกัดเนาวโลหะ ได้แก่ รากทองกวาว รากทองหลางหนาม รากทองหลางใบมน รากทองโหลง รากทองพันชั่ง รากขันทองพยาบาท รากใบทอง และรากจำปาทอง ใช้แก้โรคดี เสมหะ ลมที่เป็นพิษ แก้ริดสีดวง ทำลายพยาธิ ดับพิษ ถอนพิษ ชำระล้างลำไส้ แก้โรคตับ แก้ลม ขับระดูร้าย สมานลำไส้
- เปลือกเถา รสเย็นเบื่อเมา แก้พิษงู
ข้อมูลเพิ่มเติม :
ตำรายาไทย : ระบุว่า ชนิดหัวแดงนี้ มีพิษมาก ไม่นิยมนำมาทำยา ถ้ารับประทานมากจะเป็นอันตรายได้ ทำให้มึนเมา คลื่นไส้อาเจียน มีพิษเมามากกว่ากวาวเครือขาว ใช้ทำยาคุมกำเนิดในสัตว์
ข้อเตือนใจก่อนใช้กวาวเครือแดง
ถึงแม้ว่ากวาวเครือแดงจะมีความปลอดภัยในการรับประทานมากกว่ายาไวอาก้าก็ตาม ถ้าหากบริโภคเกินขนาดก็ส่งผลอันตรายร้ายแรงได้ โดยเฉพาะพิษต่อตับ เช่นกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดขนาดการรับประทานที่ปลอดภัยและเห็นผลคือ น้อยกว่า 2 มิลลิกรัม ต่อ1 วัน