ชื่อสมุนไพร : กะเม็งตัวเมีย
ชื่ออื่น ๆ : กะเม็งตัวเมีย, กะเม็ง(ภาคกลาง), ฮ่อมเกี่ยว(ภาคเหนือ), บั้งก็เช้า(ประเทศจีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eclipta prostrata (L.) L.
ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกะเม็งตัวเมีย เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กทอดไปตามพื้น แต่ปลายยอดจะตั้งขึ้นตรง มีความสูงประมาณ 30–60 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียว หรือ สีน้ำตาลแดง และมีขนละเอียด กิ่งก้านแตกที่โคนต้น เป็นพืชที่สามารถขึ้นได้ตลอดทั้งปี
- ใบกะเม็งตัวเมีย ใบออกตรงกันข้าม ใบมีลักษณะเป็นรูปเรียวยาว ยาว 4-10 เซนติเมตร กว้าง 0-8-2 เซนติเมตร (ถ้าเกิดในที่ชุ่มชื้นมีน้ำมากใบก็จะใหญ่ เกิดในที่แห้งแล้งใบก็เล็ก) ฐานใบเป็นรอยเว้าเข้าเล็กน้อยทั้งสองด้าน ปลายใบค่อนข้างแหลม ขอบใบมีรอยหยักตื้นๆ ทั้งสองด้านมีขนสั้นๆ มีสีขาวยู่
- ดอกกะเม็งตัวเมีย ดอกออกเป็นช่อกระจุกแน่น โดยจะออกดอกเป็นช่อเดี่ยวที่บริเวณยอด หรือ 1-3 ช่อบริเวณง่ามใบ ดอกวงนอกรูปลิ้น เป็นดอกเพศเมีย มีประมาณ 3-5 ดอก กลีบดอกมีสีขาว ส่วนดอกวงในกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ที่ปลายแยกเป็นกลีบ 4 กลีบ มีสีขาว และเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ส่วนก้านดอกเรียวยาว มีความยาวประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร
- ผลกะเม็งตัวเมีย ผลมีลักษณะเป็นรูปลูกข่าง มีสีเหลืองปนดำ เมื่อนำมาขยี้ดูจะมีน้ำสีดำออกมา ส่วนผลแก่แห้งมีสีดำไม่แตก ปลายผลมีรยางค์เป็นเกล็ดยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ขนาดของผลยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ลำต้น, ใบ, ดอก, ราก, เมล็ด
สรรพคุณ กะเม็งตัวเมีย :
- ลำต้น ใช้เป็นยาฝาดสมาน บำรุงอวัยวะเพศ แก้ตกขาว โรคมะเร็ง คอตีบ แก้หนองใน ปัสสาวะเป็นโลหิต ไอเป็นโลหิต อุจจาระเป็นโลหิต แก้บิดถ่ายเป็นเลือด แก้สตรีที่ตกขาวมาก อาเจียนเป็นโลหิต แก้ไอเป็นก้อนเลือด แก้เลือดกำเดาออก โรคลำไส้อักเสบ บำรุงไต รักษาโรคเกี่ยวกับตา อาการเจ็บตา ตาแดง
- ใบ นำใบสดมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ใส่ผมดก ดำเป็นมัน และยังแก้ผมหงอกก่อนวัย เมื่อนำมาผสมกับน้ำผึ้งกิน แก้โรคหวัด น้ำมูกไหลใช้กับทารก ตำเอากากมาพอกแผล แผลห้ามโลหิต แก้โรคหนังกลากเกลื้อน จากเชื้อรา
- ดอกและใบ ใช้ต้มและนำมาทา บริเวณเหงือก หรือฟันที่ปวด
- ราก ใช้ต้มเอาน้ำกิน แก้โรคเลือดจาง ท้องร่วง โรคบิด หอบหืด หลอดลมอักเสบ ตับอักเสบ อาการแน่นหน้าอก รักษาโรคเกี่ยวกับตา
- เมล็ด แก้เลือดออกในลำไส้ และในปอด หรือ มีแผลภายในเลือดออก
ข้อมูลเพิ่มเติม :
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- แก้โรคดีซ่านและแก้ไข้หวัด ด้วยการนำมาต้มเอาน้ำดื่ม หรือนำลำต้นมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำหอม ใช้สูดดม
- ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายให้แข็งแรง แก้ปวดเมื่อย นำมาผสมกับพริกไทยและน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นกลอนเล็ก ๆ
- แก้อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด ใช้ต้นสด หนัก 120 กรัม ตำชงด้วยปัสสาวะเด็กกิน
- แก้ไอเป็นก้อนเลือด ใช้ต้นสดหนัก 60 กรัม ตำคั้นเอาน้ำมาผสมน้ำอุ่นกิน
- แก้เลือดกำเดาออก ใช้ยานี้สดประมาณ 1 กำมือ ล้างให้สะอาดตำคั้นเอาน้ำผสมเหล้าต้มกินหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง ขณะมีเลือดออกที่จมูกก็ตำคั้นเอาน้ำซุบสำลีอุดจมูกห้ามเลือดได้ดี
- แก้หนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้ใบสดต้นนี้ร่วมกับใบผักกาดน้ำสดๆ (Plantago asiatica) อย่างละเท่าๆ กัน หนัก 60 กรัม ตำคั้นเอาน้ำกินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- แก้เลือดออกในลำไส้ และในปอด หรือ มีแผลภายในเลือดออก ใช้เมล็ดต้นนี้ผิงไฟให้แห้งบดเป็นผงผสมน้ำข้าวกินวันละ 6 กรัม หรือใช้ต้นสดหนัก 10 กรัม ผสมน้ำตาลกรวดต้มกิน
- แก้บิดถ่ายเป็นเลือด ใช้ต้นนี้แห้งหนัก 30 กรัม ต้มน้ำกิน
- แก้สตรีที่ตกขาวมาก ใช้ต้นนี้หนัก 30 กรัม ต้มกินกับเป็ด หรือ หมูก็ได้
- แก้คอตีบ ใช้ต้นกระเม็งตัวเมีย หนัก 60-90 กรัม บดใส่เกลือเล็กน้อยชงน้ำกิน จะขับเสลดออกมา
- แก้กระษัย ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาคั้นเอาแต่น้ำ กรองด้วยผ้าขาวบางผสมกับน้ำร้อนครึ่งแก้ว ผสมกับน้ำผึ้งแท้ 1 ใน 3 ส่วนของน้ำร้อนแล้วนำมารับประทาน
- รักษาโรคเกี่ยวกับตา อาการเจ็บตา ตาแดง ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 1 กำมือนำมาต้มใส่น้ำตาลพอหวานเล็กน้อย ต้มให้เดือดประมาณ 15 นาทีแล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง
- รักษาหนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการใช้ใบสดและใบผักกาดน้ำสดๆ อย่างละเท่าๆ กันประมาณ 60 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำกินวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
- แก้อาการอักเสบ บวมช้ำ ด้วยการใช้ต้นสด 3-4 ต้น นำมาล้างให้สะอาดแล้วนำไปต้มน้ำให้เดือดประมาณ 10 นาที แล้วผสมน้ำตาลทรายลงไปพอให้มีรสหวาน แล้วนำมาใช้ดื่มไม่เกิน 2 วัน
- แก้บาดแผลมีเลือดออก ใช้ต้นนี้สดตำพอก หรือใช้ต้นนี้แห้งบดเป็นผงโรยที่แผล
- แก้ปวดหัวข้างเดียว (ลมตะกัง) ใช้น้ำคั้นจากต้นนี้หยอดจมูก
- แก้ของคลอดเป็นผื่นคัน ใช้ต้นนี้หนัก 120 กรัม ต้มเอาน้ำผสมสารส้มชะล้าง
- แก้ปวดฟัน ใช้ยานี้ผิงไฟไหม้แห้งบดเป็นผง ทาที่เหงือก
- แก้เด็กปากเปื่อยเจ็บเนื่องจากเชื้อรา ใช้น้ำคั้นจากใบของต้นนี้ 2 หยด ผสมน้ำผึ้ง 8 หยอดทาแผลเปื่อยเจ็บนั้นบ่อยๆ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ต้นกะเม็งตัวเมีย ที่จะนำมาใช้ทำยา ควรนำมาทำยาตอนสดๆ เพราะถ้าเก็บไว้นานประสิทธิภาพจะเสื่อมไป
- ห้ามใช้กระเม็งตัวเมียในผู้ป่วยที่มีอาการม้ามพร่อง ไตหยินพร่อง มีอาการปัสสาวะบ่อยๆ ไม่หยุด หรือ ถ่ายเป็นน้ำมาก
- ในการใช้กระเม็งตัวเมียเพื่อบำบัดรักษาโรค ตามตำรับยาต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้ โดยควรใช้ตามขนาดที่ระบุไว้ในตำรายาไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้องรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กระเม็งตัวเมียในการช่วยรักษาโรคต่างๆ เสมอ