ชื่อสมุนไพร : กำลังช้างสาร
ชื่ออื่นๆ : กำลังช้างสาร, ฮ่อสะพายควาย (กาญจนบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pithecellobium tenue Craib
ชื่อพ้อง : Acacia tenue (Craib)Kosterm., Thailentadopsis tenuis (Craib)Kosterm.
ชื่อวงศ์ : FABACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- กำลังช้างสาร ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นมีหนามทั่วไป กิ่งก้านเป็นเหลี่ยม
- ใบกำลังช้างสาร หูใบเปลี่ยนรูปเป็นหนามแข็ง ยาว 0.5-2 ซม. ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น แกนกลางยาว 1-3 ซม. มีครีบเป็นปีก กว้างได้ประมาณ 0.5 ซม. ใบประกอบย่อยมี 1 คู่ ยาวประมาณ 2 ซม. มีครีบเป็นปีก กว้างประมาณ 0.3 ซม. ตามรอยต่อก้านใบและก้านใบย่อยแรกมีต่อมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.1 ซม. บางต่อมีก้าน มีหูใบย่อยเปลี่ยนรูปเป็นหนามตามปลายแกนกลางใบประกอบ ใบย่อยมี 1-3 คู่ เรียงตรงข้าม ไร้ก้าน รูปรีหรือรูปไข่กลับ เบี้ยว ปลายใบแหลมยาวสั้นๆ ปลายเป็นติ่งหนาม โคนใบกลมหรือรูปลิ่ม เบี้ยว แผ่นใบบาง
- ดอกกำลังช้างสาร ดอกออกเป็นช่อเชิงหลั่นหรือช่อแบบซี่ร่มแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ กลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ กลีบเชื่อมติดกัน กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาวได้ประมาณ 0.2 ซม. เกลี้ยง ปลายกลียเป็นหยักตื้นๆ รูปสามเหลี่ยม ขนาดประมาณ 0.5 มม. กลีบดอกรูประฆังยาวประมาณ .6 ซม. เกลี้ยง ปลายแยกเป็นกลีบรูปไข่ ขนาดเกือบเท่าๆกัน ยาวประมาณ 0.2 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวเท่าๆ หลอดกลีบดอก อับเรณูไม่มีต่อม รังไข่เกลี้ยง ยาวประมาณ 0.1 ซม. มีก้านยาวได้ประมาณ 0.2 ซม.
- ผลกำลังช้างสาร ผลเป็นฝัก ฝักอ่อนบิดเป็นเกลียว ฝักแก่เกือบตรง แบน กว้างได้ประมาณ 2 ซม. ยาวได้ประมาณ 20 ซม. เว้าตามเมล็ด เมล็ดรูปรี ยาวประมาณ 1.3 ซม. หนาประมาณ 0.3 ซม. เว้าทั้งสองด้าน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อไม้
สรรพคุณ กำลังช้างสาร :
- เนื้อไม้ รสสุขุม แก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้ปวดเมื่อยเส้นเอ็น
- ยาพื้นบ้านใช้ ต้น ต้มกับน้ำซาวข้าว ดื่มแก้ไข้ แก้ร้อนใน หรือผสมกับแก่นฝาง ต้นพญาท้าวเอว โด่ไม่รู้ล้มทั้งต้น ต้นเครืองูเห่า ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเส้น ปวดเอว
(ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา ที่มา : สารานุกรมพืชในประเทศไทย)