ชื่อสมุนไพร : กำลังช้างเผือก
ชื่ออื่นๆ : โนรา, สะเลา, พญาช้างเผือก, แหนปีก (ภาคอีสาน), กะลังจ่าง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิยาศาสตร์ : Hiptage benghalensis (Linn.) Kurz
ชื่อวงศ์ : MALPIGHIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- กำลังช้างเผือก ไม้พุ่มหรือไม้รอเลื้อยดอกหอมเถาขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกลและรวดเร็ว (เลื้อยไปได้ไกลประมาณ 10 เมตร) เถาเป็นสีเขียว ลักษณะกลมเกลี้ยง เนื้อไม้แข็ง ลำต้นแตกกิ่งก้านเล็กและห้อยลง (บ้างว่าแตกกิ่งก้านสาขามาก) ทรงต้นมีรูปร่างไม่แน่นอน
- ใบกำลังช้างเผือก เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 3-7 ซม. ยาว 5-15 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ
- ดอกกำลังช้างเผือก สีขาวมีแต้มสีเหลืองที่ด้านใน กลิ่นหอมจางๆ ออกเป็นช่อตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 9-22 เซนติเมตร กลีบรองดอก 5 กลีบ มีกลีบหนึ่งจะมีต่อมนูน กลีบดอก 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบข้างจะพับกลับ เกสรผู้ 10 อัน มี 1 อัน ยาวเป็นพิเศษ
- ผลกำลังช้างเผือก เป็นผลรูปกลม มีปีก 3 อันประกบกัน เมื่อผลแก่หลุดร่วงจะหมุนลงสู่พื้น หากลมพัดจะปลิวไปได้ไกลยิ่งขึ้น
ส่วนที่ใช้เป็นยา : แก่น, เปลือกต้น , ใบ
สรรพคุณ กำลังช้างเผือก :
- แก่น รสร้อนขื่น เป็นยาอายุวัฒนะ ใช้ดองเป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยแก้อาการก่อนเพลีย ช่วยขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ แก่นใช้ดองกับเหล้าเป็นยาบำรุงกำหนัด เป็นยาบำรุงเส้นเอ็น
- เปลือกต้น เป็นยาบำรุงโลหิต ตำพอกรักษาแผลสด เป็นยาบำรุงเส้นเอ็น
- ใบ รสร้อนขื่น ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง รักษาหิด รูมาติก
ข้อมูลเพิ่มเติม :
นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากดอกมีความสวย ออกดอกจำนวนมากในการออกดอกแต่ละครั้ง ดอกให้กลิ่นหอมตลอดทั้งวัน และในช่วงที่อากาศเย็นจะหอมมากเป็นพิเศษ