ชื่อสมุนไพร : กินกุ้งน้อย
ชื่ออื่นๆ : ผักปลาบ (ทั่วไป), หญ้าเลินแดง (สุราษฎร์ธานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Murdannia nudiflora (Linn.) Brenan
ชื่อวงศ์ : COMMELINACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกินกุ้งน้อย เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุปีเดียว มีลำต้นกึ่งตั้งกึ่งเลื้อย แตกออกเป็นกอ ๆ เล็ก ๆ มีความสูงได้ประมาณ 5.5-50 เซนติเมตร ลำต้นมีเนื้ออ่อน มีขนาดเล็กเรียวทอดนอน บริเวณลำต้นจะแตกรากฝอยตามข้อ มีขนขึ้นทั่วไป
- ใบกินกุ้งน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปหอกแคบ ปลายใบเรียวแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 54.8-17.4 เซนติเมตร ผิวใบค่อนข้างเกลี้ยง หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบเป็นสีม่วง กาบใบมีขนขึ้นปกคลุม ยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร
- ดอกกินกุ้งน้อยออกดอกเป็นกระจุกตามปลายยอดและซอกใบ ช่อดอกแตกแขนงเป็นช่อย่อย 2-3 ช่อ ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 1-3 ดอก ดอกเป็นสีม่วงหรือสีฟ้าอ่อน ดอกมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นสีม่วง ปลายกลีบเลี้ยงเป็นสีแดงเข้ม และมีกลีบดอก 3 กลีบ กลีบดอกมีสีม่วงสดกว่ากลีบเลี้ยง กลีบดอกจะมีขนาดเล็ก กว้างเพียง 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนตรงกลางดอกจะมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ซึ่ง 4 อันเป็นหมันจะมีสีเหลืองสด และอีก 2 อันไม่เป็นหมันจะมีสีม่วง ก้านชูอับเรณูมีปุยขนยาวสีม่วง รังไข่มี 3 ช่อง ปลายก้านเกสรเพศเมียเป็นกระเปาะมี 2 พู ออกดอกในช่วงประมาณปลายฤดูฝน
- ผลกินกุ้งน้อย ผลมีลักษณะเป็นรูปรีคล้ายไข่ หรือค่อนข้างกลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-5 มิลลิเมตร ผลเป็นสีเขียวอ่อน ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลแก่จะแห้งและแตกออกเป็น 3 พู ภายในผลมีเมล็ด 2 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม ผิวเมล็ดย่นหรือขรุขระเป็นร่องและเป็นหลุม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ลำต้น, ใบ
สรรพคุณ กินกุ้งน้อย :
- ลำต้น นำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำล้างแผลเรื้อรังหรือใช้กินป้องกันการเป็นหมัน และเป็นยาแก้โรคบิด เมื่อนำมาต้มในน้ำมันดื่ม เป็นยาแก้ไข้ ลดอาการปวดบวม และใช้เป็นยารักษาโรคเรื้อน
- ใบ นำมาย่างไฟให้ร้อน แล้วนำมาถูจุดด่างที่เกิดเนื่องจากเชื้อรา หรือนำใบสดมาตำเอากากพอกแผล