ชื่อสมุนไพร : ขมิ้นขาว
ชื่อพื้นเมือง : ขมิ้นม่วง
ชื่อสามัญ : Curcuma white, White turmeric
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma mangga Val.&.Zijp.
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นขมิ้นขาว จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีมีลำต้นใต้ดินเรียกว่า เหง้า หรือ หัว ซึ่งเว้ามีลักษณะเป็นรูปรีสีน้ำตาล และแตกแขนงย่อยเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมส่วนลำต้นเหนือพื้นดินจะเป็นลำต้นเทียม มีลักษณะคล้ายขมิ้นชันและขมิ้นอ้อย แต่จะค่อนข้างสูงกว่าโดยจะสูงราว 90-110 เซนติเมตร
- ใบขมิ้นขาว เป็นใบเดี่ยวเจริญจากลำต้นใต้ดิน ประกอบด้วยกาบใบซ้อนทับกันแบบชั้นๆ แบบเรียงสลับจากโคนถึงปลาย รูปทรงของใบเป็นรูปหอกหรือใบพายสีเขียว โคนสอบปลายแหลม กว้าง 12-15 เซนติเมตร และยาว 30-40 เซนติเมตร เจริญเติบโตในหน้าฝน แต่ในช่วงหน้าหนาวถึงฤดูแล้งจะเริ่มมีใบเหลืองและเหี่ยวแห้งแต่จะยังมีหัวฝังอยู่ใต้ดินแต่ไม่ตาย เมื่อถึงฤดูฝนถัดไปก็จะพร้อมแตกใบขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
- ดอกขมิ้นขาว ออกเป็นช่อคล้ายกับดอกขมิ้นชันกับขมิ้นอ้อย มีก้านช่อยาวแทงจากเหง้าใต้ดิน กลีบประดับสีเขียวอมชมพูซ้อนทับแบบเวียนสลับหลายกลีบ และหลายชั้นเมื่อดอกบานจะมีสีเหลืองอ่อน
ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร : เหง้าสด
สรรพคุณทางยา ขมิ้นขาว :
- เหง้า รักษาแผลในลำไส้ เจริญอาหาร ขับลม ระงับเชื้อ รักษาโรคผิวหนัง เป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ บรรเทาอาการท้องขึ้น ทำให้ผายลมและรักษาไข้ผอมเหลือง
ข้อมูลเพิ่มเติม :
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ขมิ้นขาว
ใช้ขมิ้นขาว เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร โดยนำแง่งมารับประทานสด หรือนำเหง้า และแง่งมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้ แต่หากเป็นการรักษาภายนอกเช่นโรคผัวหนังต่างๆ ก็ให้นำเหง้ามาฝนทาบริเวณที่เป็น
- ขมิ้นขาว ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น ใช้รับประทานเป็นพืชผัก เรียกว่า ขมิ้นขาว โดยส่วนที่ใช้เป็นอาหาร คือ เหง้าสด ที่เป็นสีเหลืองอ่อน และจะต้องปลอกเปลือกด้านนอกออกจะเหลือส่วนที่เป็นสีขาวด้านใน แล้วจึงสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือ นำไปยำแกง และใช้เป็นเครื่องปรุงอาหาร ต่างๆ
แต่หากใช้ในการมงคลจะเรียกว่า ว่านม่วง โดยขมิ้นขาวถือว่าเป็นพืชมงคล เพราะถือว่ามีสีขาวบริสุทธิ์ เหมือนสีของไข่มุกมีความหมายบ่งบอกถึง ความปรารถนาดี ความหวังดี ความบริสุทธิ์ใจอีกทั้งยังเชื่อกันว่าหากนำขมิ้นขาวใส่กระถางตั้งวางไวทิศตะวันออกของบ้านจะเป็นมงคล ช่วยเสริมบารมี ศักดิ์ศรี เสน่ห์ ความรัก เอื้ออาทร ความเจริญ และความยั่งยืน
ข้อแนะนำของข้อควรระวัง
สำหรับการใช้ขมิ้นขาว นั้นน่าจะมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากเป็นพืชสกุลเดียวกับขมิ้นชัน และขมิ้นอ้อยซึ่งมีการศึกษาทางพิษวิทยาระบุว่า มีความเป็นพิษน้อยมาก และสารออกฤทธิ์ที่พบก็เป็นสารชนิดเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ขมิ้นขาวก็ควรมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณ ที่เหมาะสมไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ผู้ที่แพ้พืชวงศ์ขิงควรหลีกเลี่ยงการใช้ขมิ้นขาวเนิ่งจากขมิ้นขาวเป็นพืชวงศ์เดียวกันกับขิง (Zingiberaceae)
การปรุงอาหาร : เหง้าสด นำมารับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือนำไปยำ แกง
วิธีใช้ : ขมิ้นขาวสด เมื่อทาน 100 กรัมให้วิตามินซีถึง 16 มิลลิกรัม ส่วนขมิ้นชันให้วิตามินซี 12 มิลลิกรัม เหง้า-รักษาแผลในลำไส้ เจริญอาหาร ขับลม ระงับเชื้อ รักษาโรคผิวหนัง เป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ บรรเทาอาการท้องขึ้น ทำให้ผายลมและรักษาไข้ผอมเหลือง