ชื่ออื่น ๆ : มะกาดิน(ศรีราชา), ขี้กาแดง, ขี้กาลาย, ขี้กาน้อย, กายิงอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gymnopetalum integrifolium (Roxb. Kurz)
ชื่อวงศ์ : CUCURBITACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ขี้กาแดง เป็นไม้เถาเลื้อย ลำเถาอวบน้ำและสากมีขนสีขาวสั้นตั้งตรงเกาะติดหนาแน่น
- ใบขี้กาแดง เป็นใบเดี่ยว การเกาะติดของใบบนกิ่งแบบเวียนและมีหนวดที่โคนก้านใบ ใบรูปนิ้วมือ 5 แฉกลึก ขนาดประมาณกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9-10 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนเว้าเป็นติ่งหู ขอบหยักบิดเป็นคลื่น แผ่นใบผิวหยาบสากเป็นลอนตามรอยกดเป็นร่องของเส้นใบ หลังใบมีขนสั้นสีขาวจำนวนมาก ก้านใบสีเขียวอ่อนแกมเหลืองยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีสีขาวกระจายทั่วก้านใบ
- ดอกขี้กาแดง ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียเกิดบนต้นเดียวกัน. ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาวประมาณ 4 เซนติเมตร กลีบรองกลีบดอก โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว ปลายแยกออกเป็นแฉกรูปหอก 5 แฉก มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น กลีบดอก 5 กลีบ ติดกันที่โคนกลีบเพียงเล็กน้อย กลีบรูปไข่กลับ สีขาว มีเส้นสีเหลือง มีขน ดอกเพศเมีย ก้านดอกยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร กลีบรองกลีบดอกและกลีบดอก ลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่รูปขอบขนาน ภายในมี 1 ช่อง ท่อรังไข่ปลายแยกเป็นแฉกยาว รูปขอบขนาน 3 แฉก
- ผลขี้กาแดง ผลทรงกลมโตเท่าผลส้มเขียวหวาน ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว มีริ้วสีขาวจาง ๆ ผลสุกนั้นจะมีสีแดงห้อนเป็นระย้า ผลสุกใช้ตากแห้งจะแข็งและหนา ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดทรงกลมรีแบนมีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นเมือกใสสีเขียวเข้มเกือบดำ เยื่อหุ้มเมล็ดจะมีสีเขียวเข้ม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล, ราก
สรรพคุณ ขี้กาแดง :
- ใบ รสขม ตำพอกฝี ทาแก้โรคผิวหนังอักเสบ
- หัว รสขม บำรุงหัวใจ แก้ม้ามย้อย ตับโต หรืออวัยวะในช่องท้องบวมโต
- ราก รสขม บำรุงน้ำดี แก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้จุกเสียด บดทาฝีฝักบัว แก้ตับโต ม้ามย้อย อวัยวะในช่องท้องบวมโต
- ผล รสขม บำรุงน้ำดี แก้พิษเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษเสมหะให้ตก แก้พิษตานซาง แก้ตานขโมย ขับพยาธิ เป็นยาถ่ายอย่างแรง ใช้ควันรม แก้หืด
- ทั้งเถา รสขม ต้มอาบ แก้เม็ดผดผื่นคัน แก้ไข้หัว ไข้พิษ ไข้กาฬ ต้มดื่ม บำรุงน้ำดี ขับเสมหะ ดับพิษ แก้ไอเป็นเลือด
ข้อมูลเพิ่มเติม :
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้บำรุงน้ำดี แก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้จุกเสียด แก้ตับโต ม้ามย้อย แก้ท้องบวมโต โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้บำรุงน้ำดี แก้พิษเสมหะ และโลหิต ถ่ายพิษเสมหะให้ตก แก้พิษตานซาง ตานขโมย ขับพยาธิ
- ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง โดยนำผลขี้กาแดง แห้งมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้บำรุงน้ำดี ขับเสมหะ ดับพิษ แก้ไอเป็นเลือด โดยนำเถามาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ฝีอักเสบ โดยใช้ใบมาบด หรือ ตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้ฝีฝักบัว โดยใช้รากสดมาบดใช้ทา หรือ ประคบบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้ไข้หัว ไข้พิษ ไข้กาฬ แก้เม็ดผดผื่นคัน โดยนำเถามาต้มน้ำตบ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
มีรายงานระบุว่าส่วนเมล็ดของขี้กาแดงมีความเป็นพิษ หากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ส่วนผลสดของขี้กาแดง ยังมีฤทธิ์ระบาย หากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดภาวะท้องเดินอย่างแรงได้ ดังนั้นในการใช้ขี้กาแดงเป็นยาสมุนไพร ควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยขั้นตอนการเตรียมยาควรเตรียมโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อีกทั้งการใช้ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดมี่มาจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
การขยายพันธุ์ขี้กาแดง
ขี้กาแดง สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด โดยการนำผลขี้กาแดงสุก ที่มีสีแดงไปผ่าควักเอาแต่เมล็ดนำมาล้างน้ำให้สะอาดตากแดดให้แห้ง และนำไปเพาะในกระบะเพาะชำ ให้เป็นต้นกล้าแล้วจึงนำไปปลูก หรือ นำเมล็ดหยอดลงหลุมในแปลงปลูกเลยก็ได้ ซึ่งวิธีการปลูกสามารถทำได้โดยขุดหลุมกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักคลุกเคล้ากับดินก้นหลุม จากนั้นนำเมล็ดของขี้กาแดงแช่น้ำ 1 คืน มาหยอดลงหลุมละ 1-3 เมล็ด แล้วรดน้ำให้ชุ่มประมาร 7-10 วัน จะงอกเป็นต้นอ่อน หรือ นำต้นกล้าที่เพาะมาปลูกในหลุมดังกล่าวก้ได้เช่นกัน