ขี้หนอน

ขี้หนอน

ชื่อสมุนไพร : ขี้หนอน
ชื่ออื่น ๆ
: มอด (ขอนแก่น-นครราชสีมา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zollingeria dongnaiensis Pierre.
ชื่อวงศ์ : SAPINDACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขี้หนอน เป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 20 เมตร เรือนยอดเป็นรูปไข่หรือเป็นพุ่มกลม โปร่ง เปลือกต้นด้านนอกเป็นสีเทาดำ เรียบ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลทั่วไป ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีขาว
  • ใบขี้หนอน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงเวียนสลับ มีประมาณ 5-8 คู่ ใบย่อยออกเรียงตรงข้ามกัน หรือเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือสอบ โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-16 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสั้นนุ่ม แผ่นใบห่อเข้าเล็กน้อย เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 7-9 เส้น ส่วนก้านใบย่อยยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร
    ขี้หนอน
  • ดอกขี้หนอน ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามซอกใบค่อนไปทางปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ และเป็นแบบแยกเพศ กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมี 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
  • ผลขี้หนอน ผลเป็นแห้งมีปีกยาว 3 ปีก เรียงตามยาว ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ด่างไม้, เปลือกต้น, ใบ

สรรพคุณ ขี้หนอน :

  • ด่างไม้ ยาแก้โรคกระษัย ยาแก้หวัด คัดจมูก ยาแก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ยาขับมุตกิดของสตรี
  • เปลือกต้น รสขมเย็น ยาแก้ไข้ ดับพิษร้อน แก้ร้อนใน แก้หวัดคัดจมูก เอามาตีกับน้ำให้เป็นฟอง สุมกระหม่อมเด็ก แก้หวัดคัดจมูกได้ดี แก้ชันตุ ฝนน้ำทา แก้ฝี
  • ใบ ยาแก้ร้อนใน ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้
Scroll to top