ชื่อสมุนไพร : ขี้เหล็ก
ชื่ออื่น : ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง), ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี), ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง, สุราษฎร์ธานี), ผักจี้ลี้ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), แมะขี้แหละพะโด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ยะหา (มลายู-ปัตตานี)
ชื่อสามัญ : Cassod tree , Thai copper pod , Siamese cassia
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna siamea (Lam.) Irwin & Barneby
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE – CAESALPINIOIDEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นขี้เหล็ก ไม้ต้น ขนาดกลาง ผลัดใบ สูงประมาณ 10 – 15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มแคบๆ ทึบสีเขียวเข้ม ลำต้นมักคดงอเป็นปุ่ม เปลือกต้นสีน้ำตาล หรือสีเทาปนน้ำตาล เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ มีรอยแตกตามยาวของลำต้นเป็นร่องตื้นๆ ยอดอ่อนสีแดงเรื่อๆ
- ใบขี้เหล็ก เป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดใบคู่ (ใบสุดท้ายเป็นคู่) ใบแตกออกบริเวณกิ่ง เรียงสลับกัน ประกอบด้วยใบหลักยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร แต่ละใบหลักประกอบด้วยใบย่อย เรียงเป็นคู่ๆ 7-16 คู่ ใบย่อยมีรูปร่างรี โคนใบ และปลายใบมน แต่หลักเว้าตรงกลางของปลายใบเล็กน้อย ใบยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ เส้นใบมองไม่ค่อยชัดเจน ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีแดงเรื่อ ใบแก่มีสีเขียวสด ไม่มีขน โดยใบอ่อนจะเริ่มแตกออกให้เห็นตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งในระยะนี้จะเริ่มเก็บยอดอ่อนมาทำอาหารได้ และใบจะเริ่มแก่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งช่วงนี้จะไม่นำมาทำอาหาร แต่ต่อไปจะนำดอกอ่อนที่ออกในช่วงกรกฎาคมมาทำอาหารแทน
- ดอกขี้เหล็ก แทงออกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะแทงออกเฉพาะบริเวณปลายกิ่งเท่านั้น ช่อดอกยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร แต่ละช่อประกอบด้วยดอกจำนวนมาก มากกว่า 10 ดอก ดอกประกอบด้วยกลีบรองดอก 3-4 กลีบ กลีบดอกมีสีเหลืองเข้ม จำนวน 5 กลีบ ที่มีขนาดเท่ากัน ถัดมาภายในเป็นเกสรตัวผู้ 10 อัน ถัดมาเป็นเกสรตัวเมีย และรังไข่ ดอกจะเริ่มบานจากโคนช่อ เรื่อยๆจนถึงปลายช่อ ดอกบานเต็มที่มีขนาดประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร เมื่อดอกบานแล้ว 2-3 วัน จะร่วงล่นลงดินดอกจะบานในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเริ่มติดฝักในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม
- ผลขี้เหล็ก ผลขี้เหล็กเรียกว่า ฝัก มีลักษณะแบนยาว ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาลอมดำ ขนาดฝักกว้าง 1.5 เซนติเมตร ยาว 15-25 เซนติเมตร ภายในฝักมีเมล็ดเรียงตามความยาวของฝัก จำนวน 20-30 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างรีแบน สีน้ำตาลอมดำ
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก, ราก, ลำต้น, ทั้งต้น, เปลือกต้น, แก่น, ใบ, ฝัก, เปลือกฝัก
สรรพคุณ ขี้เหล็ก :
- ดอก รสขม เป็นยาระบาย ต้มรับประทานเป็นยาทำให้นอนหลับ ลดความดันโลหิต รักษาโรคเส้นประสาท รักษาหืด ล้างศีรษะรักษารังแค โรคโลหิตพิการ ผายธาตุ ขับพยาธิ ดอกตูมเป็นยาทำให้นอนหลับสบายหรือใช้ดอกตูมร่วมกับใบไม่แก่จัดรักษาอาการนอนไม่หลับ ช่วยเจริญอาหาร ลดอาการตื่นเต้นทางประสาท
- ราก รสขม แก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ แก้ไข้ รักษาแผลกามโรค โรคเหน็บขา ทาแก้เส้นอัมพฤกษ์ให้หย่อน แก้ฟกช้ำ บำรุงธาตุ ไข้ผิดสำแดง ผสมในยาขับพยาธิและช่วยระงับอาการชักได้
- ลำต้นและกิ่ง เป็นยาระบาย รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคกระษัย แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ขับระดูขาว
- ทั้งต้น แก้กระษัย ดับพิษไข้ แก้พิษเสมหะ รักษาโรคหนองใน รักษาอาการตัวเหลือง เป็นยาระบาย บำรุงน้ำดี ทำให้เส้นเอ็นหย่อน
- เปลือกต้น รสขม รักษาโรคริดสีดวงทวาร โรคหิด แก้กระษัย ใช้เป็นยาระบาย
- แก่น รสขม แก้กามโรค หนองในเข้าข้อออกดอก แผลฝี ขับน้ำคาวปลา ถ่ายพิษ แก้กระษัย ถ่ายเส้น ขับโลหิต แก้เหน็บชา แก้อาการท้องผูก รักษาโรคเบาหวาน โรคหนองใน ใช้เป็นยาระบายชนิดกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัว แก้ไฟธาตุพิการ รักษาวัณโรคมะเร็งปอด ปอดอักเสบ มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร
- ใบ รสขม ขับระดูขาว แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ รักษาอาการท้องผูก รักษาโรคบิด โรคเบาหวาน แก้ร้อนใน รักษาฝีมะม่วง รักษาโรคเหน็บชา ลดความดันโลหิตสูง ขับพยาธิ เป็นยาระบาย รักษาอาการนอนไม่หลับ
- ผลหรือฝัก รสขม เป็นยาระบาย แก้พิษไข้เพื่อน้ำดี พิษไข้เพื่อเสมหะ แก้ไข้พิษเพื่อเอ็นตึง แก้ลมขึ้นเบื้องสูง เบื้องบน โลหิตขึ้นเบื้องบน ทำให้ระส่ำระสายในท้อง
- เปลือกผลหรือเปลือกฝัก รสขมเฝื่อน แก้เส้นเอ็นพิการ แก้เส้นเอ็นตึง แก้กระษัย
- กระพี้ รสขมเฝื่อน แก้กระษัยเส้นเอ็น ถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน กระสับกระส่าย
- ทั้งห้า คือ ใบ ดอก ผล เมล็ด ราก รสขม ถ่ายพิษกระษัย พิษเสมหะ พิษไข้ แก้พิษทั้งปวง ถ่ายเส้น
ข้อมูลเพิ่มเติม :
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ขี้เหล็ก
- อาการท้องผูกตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) ใช้ใบขี้เหล็ก 4-5 กำมือ ต้มเอาแต่น้ำดื่มก่อนอาหาร
- แก้อาการนอนไม่หลับ กังวล เบื่ออาหารใช้ใบแห้งหนัก 30 กรัม หรือใบสดหนัก 50 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มก่อนนอน หรือใช้ใบอ่อนทำเป็นยาดองเหล้า (ใส่เหล้าขาวพอท่วมยา แช่ไว้ 7 วัน คนทุกวันให้น้ำยาสม่ำเสมอ กรองกากยาออก จะได้น้ำยาดองเหล้าขี้เหล็ก) ดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชา ก่อนนอน
- แก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย ยาถ่าย ใช้ใบอ่อน 2-3 กำมือ หรือแก่นขนาดประมาณ 2 องคุลี ใช้ 3-4 ชิ้น ใช้ใบขี้เหล็กอ่อนหรือแก่ต้มกับน้ำ 1-1½ ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มเมื่อตื่นนอนเช้า หรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว
- รักษารังแค ด้วยการใช้ดอกขี้เหล็กผสมกับมะกรูดย่างไฟ 2 ลูก โดยต้องย่างให้มีรอยไหม้ที่ผิวมะกรูดด้วย ใช้ดอกขี้เหล็ก 2 ช้อนโต๊ะ พิมเสน 1 ช้อนชา นำมาปั่นผสมกันแล้วเติมน้ำปูนใส 100 cc. ปั่นจนเข้ากัน แล้วคั้นกรองเอาแต่น้ำ จากนั้นนำน้ำมันมะกอกเติมผสมเข้าไปประมาณ 60-100 cc. ผสมจนเข้ากันแล้วนำมาหมักผมทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีก่อนการสระผมทุกครั้ง จะช่วยรักษารังแคได้
- นำใบขี้เหล็กมาต้มน้ำสำหรับอาบ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กำจัดเชื้อรา
- บรรเทาอาการปวดจากพิษแมลงกัดต่อย ด้วยการนำมาส่วนต่างๆมาบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนจะประคบบริเวณที่ถูกต่อย
- ช่วยในการห้ามเลือด ด้วยการนำใบ และดอกอ่อนมาบด และกดประคบไว้ที่แผล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
การรับประทานขี้เหล็กในลักษณะที่นำใบขี้เหล็กไปตากแห้งแล้วบรรจุเป็นเม็ด อาจทำให้เกิดการเสื่อมและการตายของเซลล์ตับ หรืออาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้เกิดโรคตับได้ ซึ่งการรับประทานขี้เหล็กอย่างปลอดภัย ต้องเลือกใบเพสลาดหรือตั้งแต่ยอดอ่อนถึงใบขนาดกลาง และนำไปต้มให้เดือด เทน้ำทิ้งสัก 2-3 น้ำ แล้วค่อยนำมาปรุงอาหารหรือนำไปทำเป็นยา ซึ่งวิธีการแบบพื้นบ้านนี้จะช่วยฆ่าฤทธิ์และทำลายสารที่เป็นอันตรายต่อตับได้ และยังช่วยลดความขมลงอีกด้วย
สารบาราคอลที่ได้รับในปริมาณมากจากขี้เหล็ก อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม และมีผลทำลายเซลล์ตับ
สารในกลุ่มสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ จึงไม่ควรรับประทานมาก และผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ควรรับประทาน
จากผลการทดลองพบว่าขี้เหล็กช่วยให้นอนหลับ แต่เนื่องจากมีรายงานความเป็นพิษต่อตับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงห้ามจำหน่ายยาขี้เหล็กในรูปสมุนไพรเดี่ยวเพื่อใช้เป็นยานอนหลับหรือช่วยให้นอนหลับ
ถิ่นกำเนิดขี้เหล็ก
ขี้เหล็ก มีชื่อเรียกในทาง พฤกษศาสตร์ว่า Cassia siamea Lamk. ซึ่งคำว่า siamea ที่เป็นชื่อชนิดของขี้เหล็กนั้น มาจากคำว่า Siam หรือสยาม ทั้งนี้ เพราะผู้ตั้งชื่อทางพฤกษศาสตร์และภาษาอังกฤษให้เกียรติประเทศสยาม (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของต้นขี้เหล็กบ้าน ความจริงต้นขี้เหล็กบ้านพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในหลายประเทศ เดิมเป็นไม้ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับจากหมู่เกาะต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซียไปจนกระทั่งถึงประเทศศรีลังกาต่อมามีผู้นำเอาไม้ขี้เหล็กไปเป็นไม้ประดับ ขึ้นได้ในดินร่วมปนทรายที่มีการระบายน้ำดี