ชื่อสมุนไพร : ข่าต้น
ชื่ออื่น ๆ : ไม้จวง, จวงหอม(ภาคใต้), กะเพาะต้น (สระบุรี), เทพธาโร(ปราจีน), จะไค้ต้น (พายัพ), มือแดกะมางิง(ปัตตานี), ตะไคร้ต้น(อิสาน)
ชื่อสามัญ : Safrol laurel, Citronella laurel, True laurel
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum porrectum (Roxb.) Kosterm.
ชื่อวงศ์ : LAURACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ข่าต้น จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 10-25 เมตร ไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้น เรือนยอดสีเขียวเข้มโปร่งถึงเป็นพุ่มกลมทึบลำต้นเรียบไม่มีพูพอน เปลือกต้นสีเทาอมเขียว หรือเทาอมน้ำตาล แตก เป็นร่องตามยาวลำต้น เมื่อถากเปลือกออกเปลือกชั้นในมีสีน้ำตาลอมแดง มีกลิ่นหอมคล้ายการบูรกิ่งมีลักษณะอ่อนเรียว เกลี้ยง และมักมีคราบขาวเนื้อไม้มีสีเทาแกมน้ำตาล มีกลิ่นหอมฉุน มีริ้วสีเขียวแกมเหลือง เนื้อไม้เป็นมันเสื่อม เสี้ยนตรง หรือสับสน เป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย เหนียวแข็งพอประมาณ
- ใบข่าต้น เป็นใบเดี่ยว ดอกออกตรง กันข้าม เรียงแบบเวียนสลับ มีลักษณะรูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ผิวใบเกลี้ยง เนื้อใบค่อนข้างหนา ใบกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร ท้องใบมีนวลขาวอมเทา ใบอ่อนสีเขียว ใบแก่มีสีแดง มีเส้นใบหลัก 1 เส้น เส้นใบข้างโค้ง 3-7 คู่ นูนขึ้นทั้งสองด้าน ปลาบใบแหลม โคนใบสอบถึงมน ก้านใบเล็กเรียว สีเขียวอ่อน เขียวอมเหลืองหรือแดง ยาวประมาณ 1.2-3.5 เซนติเมตร
- ดอกข่าต้น ดอก ออกเป็นช่อกระจุกคล้ายร่มยาวประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร และใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 13-14 ดอก มีขนาดเล็ก โดยจะออกตามปลายกิ่ง กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ มี 6 กลีบ สีขาวอมเขียวหรือสีเหลืองอ่อน ภายในดอกมีขนเล็กน้อย ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 อัน ส่วนก้านช่อดอกมีลักษณะ เรียวมีความยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร
- ผลข่าต้น ผล ออกเป็นพองมีขนาดเล็กเกลี้ยง ทรงกลม หรือ ไข่กลับ เส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีกลิ่นหอม ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีม่วงดำ ก้านผลเรียวยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงรูปถ้วย ไม่มีซี่หยักติดอยู่
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ต้น, แก่นต้น, เปลือกต้น, ยาง
สรรพคุณ ข่าต้น :
- ใบ แก้ไข้เซื่องซึม ขับลม แก้ธาตุพิการ ขับเสมหะ แก้ลมจุกเสียด บำรุงธาตุ เจริญอาหาร
- ต้น แก้ลมจุกเสียด ขับผายลม แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ
- แก่นต้น แก้ปวดท้อง ขับลมในลำไส้
- เปลือกต้น ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด แก้ปวดท้อง ขับผายลม บำรุงธาตุ
- ยาง แก้พยาธิ แก้ฟกช้ำ แก้คุดทะราด ถ่ายโลหิตและน้ำเหลือง ทำให้ถ่ายอุจจาระ
- ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แก้ลมจุกเสียด แก้แน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง ขับผายลม บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหาร แก้คลื่นเหียน แก้อาเจียน บำรุงธาตุไฟ
ข้อมูลเพิ่มเติม :
รูปแบบและขนาดวิธีใช้เทพทาโร
- ใช้แก้ไข้หวัด ตัวร้อน อาการไอเรื้อรัง ออกหัดตัวร้อน โดยใช้เมล็ดเทพทาโรประมาณ 5-6 กรัม นำมาบดให้เป็นผงชง กับน้ำรับประทาน
- ใช้เป็นยาขับลมชื้อในร่างกาย แก้ไขข้ออักเสบ โดยใช้ราก แห้ง 10-18 กรัม มาดองกับเหล้ารับประทาน
- ใช้เป็นแก้บิด โดยใช้เมล็ดเทพทาโร ประมาณ 5-8 กรัม นำมาต้มกับใบยูตาลิปตัสประมาณ 6-8 กรัม รับประทาน
- ใช้แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดเส้นเอ็น ให้ใช้รากเทพทาโร 20 กรัม โกฐหัวบัว 20 กรัม เจตมูลเพลิง 15 กรัม โกฐสอ 10 กรัม และโกฐเชียง 15 กรัม นำมาแช่กับเหล้ารับประทาน
- ใช้แก้ลมป่วง โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้สะอึก แก้ไข้โดยใช้เปลือกต้นมาฝนกับเปลือกหอยขมผสมกับน้ำซาวข้าว แล้วนำมาดื่ม
- ใช้แก้ปวดท้องแก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดเมื่อย โดยใช้น้ำมันหอมระเหยจากส่วนต่างๆ ของเทพทาโร มาถูนวดบริเวณที่เป็นแก้หูน้ำหนวกโดยใช้น้ำมันหอมระเหยชุบสำลีนวดหู
เทพทาโรจัดเป็นพืชไม้หอมที่มีคุณประโยชน์ต่างๆ มาตั้งแต่ในอดีตซึ่งได้ปรากฎหลักฐานการใช้ประโยชน์ของเทพทาโร หรือ จวงหอม ตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังปรากฎในไตรภูมิพระร่วง โดยกล่าวถึงการบูชาจักรรัตนะ ผู้คนจะแต่งตัว ทากระแจะจวงจันทน์ หรือ ในตอนกล่าวถึงแผ่นดินอุตตรกุรูทวีป มักจะใช้กระแจจวงจันทน์ตกแต่งศพ หรือ ตอนพระญาจักรพรรดิราชสวรรคต ก็จะชโลมด้วยกระแจจวงจันทน์และจิงเอาผ้าขาวอันเนื้อละเอียดนั้น มาตราสังศพพระญาจักรพรรดิราชนั้น เป็นต้น ความนิยมในเครื่องหอมกระแจจวงจันทน์ ยังมีสืบเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาตอนต้นดังปรากฏในกฎหมายพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง พ.ศ.1599 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 อู่ทอง อีกด้วย และในปัจจุบันได้มีการนำเทพทาโร มาใช้ประโยชน์ในงานแกะสลัก ในปัจจุบันซึ่งผู้ประกอบการได้ใช้เนื้อไม้ และรากทำผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก ส่วนเศษไม้ที่เหลือจากการแกะสลักนำไปกลั่นน้ำมันหอมระเหย เศษเหลือจากการกลั่นน้ำมันหอมระเหยใช้ท้าธูปหอม กำยาน อีกด้วย อีกทั้งยังมีการนำเนื้อไม้ของเทพทาโรมาใช้ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ชิ้นไม้ส่วนรากนำมาห่อ ใส่ในตู้เสื้อผ้ากันมอด และแมลงอื่นๆ ได้ดี ส่วนน้ำมันหอมระเหยนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ แชมพู สบู่ ยานวด และหัวเชื้อน้ำหอม ทำยาหม่อง ฯลฯ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้เทพทาโรเป็นสมุนไพร สำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ อีกทั้งไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก และสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้เทพทาโร เป็นสมุนไพร เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาด้านความปลอดภัยอย่างชัดเจน ส่วนผู้ที่ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ที่ต้องทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้เทพทาโรเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง