คนทา

คนทา

ชื่อสมุนไพร : คนทา
ชื่ออื่น ๆ 
:  สีพัน, สีฟันคนทา,กะลันทา (ไทย) , หนามกะแท่ง (เลย), มีชี (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน),จี้,หนามจี้, สีเตาะ (พายัพ)
ชื่อวิทยาศาตร์ Harrisonia perforata Merr.
ชื่อวงศ์ SIMAROUBACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นคนทา เป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถา หรือเป็นไม้พุ่มเลื้อยทอดเกาะเกี่ยวขึ้นไป มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นมีจะมีขนาดโตเท่ากับต้นหมาก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล และมีหนามแหลมและสั้นตลอดทั้งลำต้นและตามกิ่งก้าน
    คนทา
  • ใบคนทา เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 11-15 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบมนถึงแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเป็นหยักแบบห่างๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีแดง ก้านใบร่วมเป็นปีกแผ่ขยายออกแคบๆ
    คนทา
  • ดอกคนทา ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ภายในมีแป้นดอก ดอกย่อยด้านนอกเป็นสีแดงแกมม่วง ส่วนด้านในเป็นสีนวล กลีบดอกและกลีบดอกมีกลีบอย่างละ 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานฅ
  • ผลคนทา มีลักษณะค่อนข้างกลม เบี้ยว และฉ่ำน้ำ ผิวผลเรียบเนียนคล้ายแผ่นหนัง ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อผลค่อนข้างแข็ง ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว เมล็ดแข็งเป็นสีน้ำตาล มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร
    คนทา

ส่วนที่ใช้เป็นยา :  ราก, ทั้งต้น, กิ่งก้าน

สรรพคุณ คนทา :

  • ราก รสขมเฝื่อน ใช้ต้มกิน รักษาอาการไข้เพื่อเส้นและเป็นยารักษาอาการท้องร่วง โรคลำไส้ ไข้เหนือ และไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้ตักศิลา แก้ไข้เส้น กระทุ้งพิษไข้หัว ใช้เป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด
  • ทั้งต้น รสขมเฝื่อน แก้ไข้ทุกชนิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้บิด ท้องเสีย
  • กิ่งก้าน รสขมเฝื่อน ใช้สีฟัน รักษาฟัน

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ไข้ กระทุ้งพิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้น้ำเหลืองเสีย แก้โรคตา ขับลม โดยใช้รากของคนทา มาต้มกันน้ำดื่ม เช้า-เย็น
  • ใช้ฟอกเลือด แก้ท้องร่วง แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ โดยใช้เปลือกต้น หรือ รากอ่อน ต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น
  • ใช้แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยใช้ดอกสด มาขยี้ทาบริเวณที่ถูกพิษของแมลงต่างๆ ส่วนในตำรับยา 5 ราก (ยาเบญจโลกวิเชียร) ที่มีคนทาเป็นส่วนประกอบ ควรใช้ดังนี้ เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารหรือเมื่อมีอาการ

บัญชียาจากสมุนไพร : ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้คนทาในตำรับ “ยาห้าราก” มีส่วนประกอบของรากคนทาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ยา 5 ราก (ยาเบญจโลกวิเชียร) ที่มีรากคนทา เป็นส่วนประกอบควรระมัดระวังในการใช้ดังนี้

  1. ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่มีไข้ทับระดู หรือ ไข้ระหว่างมีประจำเดือน
  2. ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
  3. หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
  4. สำหรับการใช้ต้นคนทา เป็นสมุนไพรเพื่อรักษาโรคอื่นๆ นั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ต้องใช้ตามขนาด และวิธีใช้ที่ระบุตามตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้เกินขนาด หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนใช้คนทาเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

มีการนำคนทา มาใช้ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นตามภาคต่างๆ ของไทย เช่น มีกานำผลของคนทามาหมกไฟ แล้วทุบเอาน้ำที่ได้มาทาเท้า ช่วยป้องกันโรคน้ำกัดเท้าตอนทำนา หรือ นำผลคนทามาใช้ทำสีสำหรับย้อมผ้า ซึ่งจะให้สีเทาอมม่วง ส่วนกิ่งก้านนั้น ในอดีตมีการนำมาใช้ทำเป็นแปรงสีฟัน สำหรับใช้แปรงฟัน นอกจากนี้เนื้อไม้ของคนทายังสามารถนำไปใช้ทำเครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือนได้ เช่น ด้ามมืด ด้ามขวาน คานหาบน้ำ ด้ามจอบ ด้ามเสียม เป็นต้น

ถิ่นกำเนิดคนทา

คนทาเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณตั้งแต่ทางตอนใต้ของจีน จนถึงคาบสมุทรอินโดจีน แล้วจึงมีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนอื่นๆ ของโลก เช่น เอเชียใต้ แอฟริกา และอเมริกาใต้ เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้คนทา เป็นพรรณไม้ที่พบในป่าเป็นส่วนใหญ่ และไม่ค่อยได้รับความนิยมที่จะทำมาปลูกไว้ในบ้าน โดยจะพบมากในป่าเขาหินปูน ป่าผลัดใบ และตามป่าละเมาะทั่วไปที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 900 เมตร

Scroll to top