คว่ำตายหงายเป็น

คว่ำตายหงายเป็น

ชื่อสมุนไพร : คว่ำตายหงายเป็น
ชื่ออื่น :
กะลำเพาะ เพลาะแพละ นิรพัตร ต้านตายใบเป็น ฆ้องสามย่านตัวเมีย (ไทย), กระลำเพาะ ต้นตายใบเป็น นิรพัตร เบญจฉัตร (ภาคกลาง), มะตบ ล็อบแล็บ ลบลับ ลุบลับ ลุมลัง (ภาคเหนือ), สะแกหล่า (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), บล้งตัวเก่า (ม้ง), กาลำ (ตราด), แข็งโพะ แข็งเพาะ โพะเพะ โพ้ะเพะ (นครราชสีมา), ต้นตายปลายเป็น (จันทบุรี), ทองสามย่าน (กาญจนบุรี), เพรอะแพระ (ประจวบคีรีขันธ์), ส้มเช้า (ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, ตรัง), ยาเท้า ยาเถ้า มะตบ ล็อบแลบ ลุบลับ ฮ้อมแฮ้ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กะเร คว่ำตายหงายเป็น (ชลบุรี, ภาคใต้), ปะเตียลเพลิง (เขมร-จันทบุรี), ตะละ ตาละ (มาเลย์-ยะลา), โกดเกาหลี (คนเมือง),ลั่วตี้เซิงเกิน (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bryophyllum pinnatum (Lam.) Oken
ชื่อวงศ์ : CRASSULACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  •  คว่ำตายหงายเป็น เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นมีความแข็งแรงมากและมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงประมาณ 0.4-1.5 เมตร ไม่แตกกิ่งก้านหรือแตกเพียงเล็กน้อย ลำต้นกลม มีเนื้อนิ่มอวบน้ำ ผิวเกลี้ยง ภายในลำต้นและกิ่งก้านกลวง โคนกิ่งเป็นสีเทา ยอดต้นเป็นสีม่วงแดง ส่วนที่ยังอ่อนอยู่ของลำต้นจะมีข้อโป่งพองเป็นสีเขียวและแถบหรือจุดสีม่วงเข้มแต้มอยู่ ส่วนที่แก่แล้วจะมีใบเฉพาะครึ่งบน หรือในช่วงที่ดอกบานนั้นใบเกือบจะไม่มีเลย
  • ใบคว่ำตายหงายเป็น เป็นใบเดี่ยวหรือเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ บางครั้งเป็นใบประกอบแบบขนนกจะมีใบย่อยได้ถึง 5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปรีกว้าง ส่วนปลายและโคนใบจะมน ส่วนขอบใบหยักโค้งเป็นซี่มนตื้น ๆ ใบหนา ฉ่ำน้ำ และเป็นสีม่วง แต่ละรอยจักจะมีตาที่สามารถงอกรากและลำต้นใหม่ได้ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร เส้นใบเห็นได้ไม่ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1.5-10 เซนติเมตร มีลักษณะค่อนข้างจะโอบลำต้น ก้านใบจะย่อยและสั้น
  • ดอกคว่ำตายหงายเป็น ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกและห้อยลง มีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกด้านล่างเป็นสีเขียว ส่วนด้านบนเป็นสีแดง ส่วนกลีบรองดอกจะเชื่อมติดกัน ที่ปลายจักเป็นแฉกเป็นรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ แบ่งออกเป็น 4 แฉก ตรงปลายแหลม เช่นเดียวกับกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน มีความยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร ส่วนท่อเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร รังไข่มีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีสีเขียว ผิวเกลี้ยง และมีความยาวได้ประมาณ 0.2-1 เซนติเมตร
  • ผลคว่ำตายหงายเป็น มีลักษณะออกเป็นพวงและมีอยู่ 4 หน่วย เป็นผลแห้ง แตกตะเข็บเดียว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกหุ้มอยู่ ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็ก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ทั้งต้น

สรรพคุณ คว่ำตายหงายเป็น :

  • ใบ, ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม ช่วยให้คลอดง่าย ตำพอกหรือทาแก้ปวดกระดูก กระดูกหัก แผลไฟไหม้
  •  ตำคั้นน้ำ แก้บิด ท้องร่วง อหิวาตกโรค นิ่ว ขับปัสสาวะ ตำพอกแก้ปวดอักเสบ ฟกบวม รักษาฝี ถอนพิษ น้ำคั้นในผสมการบูร ทาถูนวด แก้เคล็ด ขัดยอก และเเพลง กล้ามเนื้ออักเสบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ใบเผาไฟเล็กน้อย หรือตำพอกแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ฝี ตาปลา

ข้อมูลเพิ่มเติม :

  • พื้นบ้านอาเซียนที่ใช้ตรงกัน คือ ใช้ใบสด บดรักษาแผลไฟไหม้ชนิดไม่เป็นมากหรือเล็กน้อย ฝี โรคผิวหนัง
  • ในฟิลิปปินส์และอินเดีย โดย เป็นที่รู้จักดีสำหรับการใช้ห้ามเลือดและช่วยให้แผลหาย นอกจากนี้ยังใช้ในการรักษาหูดที่เท้าอีกด้วย
Scroll to top