คัดเค้า

คัดเค้า

ชื่อสมุนไพร : คัดเค้า
ชื่ออื่น ๆ 
: จี้เก๊า , โยทะกา, เค็ดเค้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Randia siamensis Craib.
ชื่อวงศ์ RUBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นคัดเค้า เป็นพรรณไม้เถาเนื้อเหนียวแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงประมาณ 3-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบและเป็นสีน้ำตาล ลักษณะของลำต้นคดและยาว มักขึ้นพาดพันเลื้อยไปตามต้นไม้และกิ่งไม้ หากไม่มีที่เลื้อยพันก็จะเป็นไม้กึ่งเลื้อยกึ่งยืนต้นคล้ายกับนมแมว ตามลำต้นมีข้อ ซึ่งจะมีใบงอกออกเป็นคู่ๆ และจะมีหนามแหลมโค้งงองุ้มออกจากโคนใบมีลักษณะคล้ายกับเขาควาย ข้อละหนึ่งคู่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไม้ชนิดนี้
  • ใบคัดเค้า  ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี (ลักษณะเรียวยาวคล้ายกับใบมะม่วง) ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ท้องใบเรียบลื่นและมีสีอ่อนกว่า เนื้อใบเหนียวหนาแข็ง และมีหูใบขนาดเล็กลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ระหว่างก้านใบ
  • ดอกคัดเค้า ดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง ดอกเป็นช่อใหญ่ แต่ละช่อดอกจะมีขนาดตั้งแต่ 4-10 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 10-25 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาวและมีกลิ่นหอม ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายดอกเข็ม ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะบิด ที่โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น แต่ละดอกจะมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ยื่นยาวพ้นกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมียเป็นรูปกระสวยสีขาวหรือเป็นรูปแถบเส้นอยู่ระหว่างกลีบดอก 6 แถบ กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีขาวอมสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ดอกจะบานพร้อมกันทั้งช่อ เมื่อดอกที่เริ่มบานจะเป็นสีขาวนวลแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวลในวันต่อมา ดอกจะส่งกลิ่นหอมแรงมากในช่วงเย็นถึงช่วงกลางคืน โดยจะออกดอกในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงช่วงฤดูหนาว
  • ผลคัดเค้า เป็นพวงหรือออกเป็นกลุ่ม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี ผิวผลเรียบและเป็นมัน ผลมีขนาดเท่าเมล็ดพุดซากลมๆ โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ปลายผลแหลม ผลเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กอัดแน่นกันเป็นจำนวนมาก เมล็ดขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ดอก, ผล, ราก, ทั้งต้น

สรรพคุณ คัดเค้า :

  • ใบ รสเฝื่อนเมา ใช้รักษาโรคโลหิตซ่าน
  • ดอก รสขมหอม ใช้รักษาโลหิตในกองกำเดา
  • ผล รสเฝื่อนปร่า รักษาโลหิตอันเน่าให้ตก และรักษาโลหิตร้อนให้บริบูรณ์ บำรุงโลหิต บำรุงผิวให้ผ่องใส
  • ราก ใช้รักษารัตตปิดตะโรค ขับเลือด และรักษาไข้เพื่อโลหิต เลือดออกตามไรฟัน
  • ทั้งต้น รสเฝื่อนฝาด แก้ไข้ แก้เสมหะ
  • เปลือกต้น รสฝาด ปิดธาตุ แก้เสมหะ แก้โลหิตซ่าน แก้เลือกออกตามทวารทั้ง 9

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ฟอกโลหิต, บำรุงโลหิต, ขับประจำเดือน โดยนำผลประมาณ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น
  • ใช้แก้ไข้ ขับเลือด ขับลม แก้เลือดออกตามไรฟัน โดยนำแก่นต้น หรือ รากมาฝนกับน้ำกิน
  • ใช้แก้ท้องเสีย โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้พอกรักษาฝี โดยนำยอดคัดเค้า นำมาขยี้ หรือ ตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้พิษฝีต่างๆ แก้ฝีประคำร้อย โดยนำหนามมาฝนแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เนื่องจากหลายๆส่วนของคัดเค้า มีสรรพคุณ ฟอกโลหิต ช่วยขับประจำเดือน ดังนั้นสตรีมีครรภ์จึงไม่ควรใช้คัดเค้าเป็นสมุนไพร
  2. ในการใช้คัดเค้าเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี ตามที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้คัดเค้า เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของคัดเค้า

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของคัดเค้าในการต้านการอักเสบโดยวิธี Carrageenan foot edema test ในหนู พบว่าสารสกัดหยาบด้วยน้ำขนาด 5, 10 และ 50 mg/kg สามารถยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้ 20.45%  36.36% และ 59.09%

ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาพบว่า น้ำสกัดจากคัดเค้า มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม ที่เกิดจากการใช้คาร์บาคอล และพบว่า ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมเป็นแบบ dose-reiated และฤทธิ์ดังกล่าวไม่ผ่านการกระตุ้นตัวรับอะดรีเนอร์จิกชนิดเบต้า เนื่องจากโพรพราโนลอล ไม่สามารถต้านผลการคลายตัวที่เกิดจากน้ำสกัดจากคัดเค้าได้

และยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับระบุว่าคัดเค้ามีฤทธิ์บีบตัวของมดลูกอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าสาร Pseudoginsenoside-RP ที่พบในคัดเค้ามีฤทธิ์ลดความดันเลือด และเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงเพิ่มความแรงในการหดตัวได้เองของมดลูกได้อีกด้วย

การขยายพันธุ์คัดเค้า

คัดเค้า สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด, การปักชำ และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมที่สุด คือ การเพาะเมล็ดเพราะงอกได้ง่าย และต้นกล้าที่ได้จะมีความแข็งแรง และเจริญเติบโตได้เร็วกว่าวิธีอื่น สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดคัดเค้านั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดพืชชนิดอื่นๆ ส่วนวิธีการปลูกนั้นสามารถทำได้โดยนำต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดมาปลูกลงดิน โดยให้ขุดหลุมกว้างลึกประมาณ 1×1 ฟุต แล้ววางต้นกล้าพร้อมกับดินที่ใช้เพาะต้นกล้าทั้งหมดลงหลุมปลูก แล้วกลบดินปากหลุมให้แน่น รดน้ำพอชุ่มประมาณ 1 สัปดาห์ ต้นกล้าก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ต่อไป

ถิ่นกำเนิดคัดเค้า 

คัดเค้าเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศไทยแล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวรใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังจะเห็นจากชื่อชนิด (species) ของคัดเค้า คือ SIAMENSIS ซึ่งแสดงว่าพบในสยาม หรือ ในประเทศไทยนั่นเอง โดยจะพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ในป่าเบญจพรรณภาคต่างๆ หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่า แต่ในปัจจุบันมีการนำมาปลูกไว้ตามบ้านเรือน หรือ สวนสาธารณะมากขึ้น เพราะเป็นพรรณไม้ที่มีกลิ่นหอม

Scroll to top