คูน

คูน

ชื่อสมุนไพร : คูน
ชื่ออื่น ๆ
 : ลมแล้ง (ภาคเหนือ), คูณ, ชัยพฤกษ์, ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง), ลักเคย , ลักเกลือ (ปัตตานี ), กีเพยะ (กะเหรี่ยง), ปูโย, ปีอยู, เปอโช, แมะหล่าหยู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เช็งเชียชัวเพียงเต่า, อาเหล็กปก(จีน)
ชื่อสามัญ : Golden Shower, Indian Laburnm, Puddingping Tree, Purging Cassiai
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn.
ชื่อวงศ์ CAESALPINIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นคูน ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เปลือกต้นเกลี้ยง สีขาวอมเทา แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม
  • ใบคูน เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ ออกเรียงสลับ ใบย่อย 3-8 คู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบยาว 30-40 เซนติเมตร ฐานใบมน ปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบเกลี้ยง ค่อนข้างบาง หูใบมีขนาดเล็กและร่วงง่าย
  • ดอกคูน เป็นช่อแบบช่อกระจะ สีเหลืองสด ออกตามซอกใบหรือปลายยอด 1-3 ช่อ เป็นช่อห้อยลงเป็นโคมระย้า ยาว 20-40 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดบานกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่แกมรูปรี ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง รูปไข่ ปลายมน เกสรตัวผู้ 10 อัน สั้น 7 อัน ยาว 3 อัน อับเรณูมีขนาดเล็ก ก้านเกสรตัวเมีย และรังไข่มีขนยาวคล้ายไหม
  • ผลคูน เป็นฝักยาว รูปแท่งกลม กว้าง 1.5-2.5  เซนติเมตร ยาว 20-60 เซนติเมตร ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกฝักแข็งกรอบ ฝักแก่ไม่แตก แต่จะหลุดร่วงทั้งฝัก และหักแตกเป็นชิ้น ภายในฝักจะมีผนังกั้นเป็นช่องๆ แต่ละช่องมีเมล็ด 1 เมล็ด
  • เมล็ดคูน  มีเนื้อเหนียวเปียกสีดำหุ้ม มีรสหวาน เมล็ดแบนรี สีน้ำตาล มีเมล็ด 50-70 เมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อในฝัก, ใบ, ดอก, เปลือกต้น, แก่น, กระพี้, ราก, เมล็ด

สรรพคุณ คูน :

  • เนื้อในฝัก รสหวานเอียน แก้ท้องผูก ขับเสมหะ ระบายพิษไข้ ช่วยระบายท้องเด็ก เป็นยาระบายที่ไม่ปวดมวน ใช้ในเด็กหรือสตรีมีครรภ์ ท้องผูกเรื้อรัง แก้ไข้มาลาเรีย บิด แก้ตานขโมย ใช้พอกแก้ปวดข้อ ระบายพิษโลหิต แก้ร้อนในกระหายน้ำ บรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟกช้ำ ชำระน้ำดี แก้ลมเข้าข้อและขัดข้อ ถ่ายโรคกระษัย ถ่ายเส้นเอ็น
  • ใบ รสเมา ใช้ระบายท้อง ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ แก้ฝีและเม็ดผื่นคันตามร่างกาย ฆ่าพยาธิผิวหนัง ตำพอกแก้ปวดข้อ แก้ลมตามข้อ แก้อัมพาต
  • ใบอ่อน แก้ไข้รูมาติก
  • ดอก รสเปรี้ยว ขม ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ ระบายท้อง แก้พรรดึก แก้แผลเรื้อรัง พุพอง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม เป็นยาหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคกระเพาะอาหาร ขับพยาธิไส้เดือน แก้ตกเลือด
  • เปลือกต้น รสฝาดเมา แก้ท้องร่วง ฝนผสมกับหญ้าฝรั่น น้ำตาล น้ำดอกไม้เทศ กินแล้วทำให้เกิดลมเบ่งในการคลอดบุตร สมานแผล แก้ไข้ แก้ฝีคุดทะราด แก้โรคในทรวงอก แก้ฟกบวมในท้อง แก้ปวดมวน แก้เม็ดผื่นคันในร่างกาย แก้ตกเลือด แก้บวม แก้พยาธิ แก้ฝีเปื่อยพัง
  • แก่น รสเมา ขับพยาธิไส้เดือน แก้กลากเกลื้อน ระบายพิษไข้ กินกับหมาก
  • กระพี้ รสเมา แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน
  • ราก รสเมา แก้กลากเกลื้อน ฆ่าเชื้อคุดทะราด ระบายพิษไข้ แก้เซื่องซึม แก้หายใจขัด แก้ไข้ รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ถุงน้ำดี เป็นยาระบายท้อง รักษาขี้กลาก แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้พยาธิ แก้ตกเลือด
  • เปลือกราก รสฝาด ต้มดื่ม ระบายพิษไข้ แก้ไข้มาลาเรีย
  • เปลือกเมล็ดและเปลือกฝัก ถอนพิษเบื่อเมา ทำให้อาเจียน
  • เมล็ด ใช้ถ่ายพยาธิ แก้ตานซางตัวร้อน มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว เปลือกและใบ บดผสม ทาฝี และเม็ดตามร่างกาย

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้คูน

  • เอาเนื้อในฝักแก่ก้อนเท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 4 กรัม) น้ำ 1 ถ้วยแก้วต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอนหรือตอนก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว เป็นยาระบายสำหรับคนที่ท้องผูกเป็นประจำและสตรีมีครรภ์
  • รากคูน นำมาต้มรับประทาน ใช้ลดไข้ รักษาโรคในถุงน้ำดี นำมาฝนทารักษากลาก เกลื้อน และโรคผิวหนังต่างๆ ราก เปลือก และแก่น นำมาต้มใช้ล้างบาดแผล ต้านเชื้อแบคทีเรีย รักษาแผลติดเชื้อ แผลอักเสบ
  • ใบหรือดอกคูน กินสดหรือต้มน้ำรับประทาน ใช้ต้านรักษาโรคเบาหวาน บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ ลดอัตราเสี่ยงของโรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด นำมาบด ใช้ทาผิวหนัง ใช้ทาแผล ต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • เนื้อฝัก น้ำต้มจากฝัก รับประทานแก้บรรเทาอาหารจุกเสียดแน่นท้อง
  • เปลือกเมล็ดและเปลือกฝักมีสรรพคุณช่วยถอนพิษ ทำให้อาเจียน หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 5-6 เมล็ด นำมาบดเป็นผงแล้วรับประทานก็ได้
  • ฝักและใบมีสรรพคุณช่วยขับพยาธิ ด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • รากนำมาฝนใช้ทารักษากลากเกลื้อน และใบราชพฤกษ์อ่อนก็ใช้แก้กลากได้เช่นกัน
  • เปลือกและใบคูน นำมาบดผสมกันใช้ทาแก้เม็ดผดผื่นตามร่างกายได้นอกจากนี้ยังมีการนำสมุนไพรคูนมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น
  • น้ำมันนวดคูน ที่เคี่ยวมาจากน้ำมันจากใบคูน เป็นน้ำมันนวดสูตรร้อนหรือสูตรเย็น ที่ใช้นวดแก้อัมพฤกษ์อัมพาต และแก้ปัญหาเรื่องเส้น
  • ลูกประคบราชตารู เป็นลูกประคบสูตรโบราณ ที่ใช้ใบคูนเป็นตัวยาตั้งต้น ประกอบไปด้วย ขมิ้นอ้อย เทียนดำ กระวาน และอบเชยเทศ โดยลูกประคบสูตรนี้จะใช้ปรุงตามอาการ โดยจะดูตามโรคและความต้องการเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เหมือนกัน
  • ผงพอกคูนคาดข้อ ทำจากใบคูนที่นำมาบดเป็นผง ช่วยแก้อาการปวดเส้น อัมพฤกษ์อัมพาต โดยนำมาพอกบริเวณที่เป็นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดข้อ รักษาโรคเกาต์ และยังช่วยลดอาการอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งสูตรนี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก ตาไม่หลับ มุมปากตกได้ด้วย
  • ชาสุวรรณาคา ทำจากใบคูน สรรพคุณช่วยในด้านสมอง แก้ปัญหาเส้นเลือดตีบในสมอง ช่วยให้ระบบไหลเวียนในร่างกายดีขึ้น ช่วยแก้อัมพฤกษ์อัมพาต โดยเป็นตัวยาที่มีไว้ชงดื่มควบคู่ไปกับการรักษาแบบอื่น ๆ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การทำเป็นยาต้ม ควรต้มให้พอประมาณจึงจะได้ผลดี หากต้มนานเกินไปหรือเกินกว่า 8 ชั่วโมง ยาจะไม่มีฤทธิ์ระบาย แต่จะทำให้ท้องผูกแทน และควรเลือกใช้ฝักที่ไม่มากจนเกินไป และยาต้มทีได้หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้อาเจียนได้
อาการข้างเคียง มีรายงานว่าผู้ป่วย 49 คน รับประทานต้นคูนแล้วเกิดพิษ โดยมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปากเจ็บ ง่วงซึม เพ้อคลั่ง และท้องเสีย

สารที่พบในคูน

  • สารคาร์ทามีดีน (carthamidine) ของดอก มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิว ต้านการเสื่อมของเซลล์
  • สารแคโรทีนอยด์ หลายชนิดในใบ และดอกคูนออกฤทธิ์รวมกันหลายด้าน อาทิ
    ต้านการเสื่อมสภาพของเซลล์ ป้องกันผิวจากอันตรายของแสง ป้องกันผิวเหี่ยวย่น
    ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันโรคตาอักเสบ โรคต้อกระจก และช่วยให้มองเห็นได้ดีในตอนกลางคืน
    ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกัน และลดอาการภูมิแพ้
    บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ ป้องกันโรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด
    ต้านเซลล์มะเร็ง
  • สารในกลุ่ม saponin มีคุณสมบัติเป็นสารลดแรงตึงผิว มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ขยายหลอดลม แต่มีผลข้างเคียงทำให้เม็ดเลือดแตกตัว
  • สาร anthraquinones ที่พบในใบ และฝัก มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ใช้เป็นยาระบาย ใช้ฆ่าเชื้อ
  • สารในกลุ่ม flavonoid ที่พบในใบ ดอก และฝัก หลายชนิดออกฤทธิ์รวมกัน ต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ ช่วยขยายหลอดลม ช่วยให้ผนังเส้นเลือดแข็งแรง รักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก
  • สารแทนนิน (tannin)ที่พบในเปลือก และแก่น มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาอาการท้องร่วง นอกจากนั้น เมื่อเข้าสู่ลำไส้จะกับโปรตีนในเยื่อบุ ช่วยลดการอักเสบ ต้านการสูญเสียน้ำ ช่วยดูดซึมน้ำกลับ แต่มีผลทำให้อาหารไม่ย่อย ทำให้ท้องอืด

การขยายพันธุ์คูน

การปลูกราชพฤกษ์นิยมปลูกด้วยเมล็ด รองลงมา คือ การปักชำกิ่ง ซึ่งการปักชำกิ่งจะได้ต้นใหม่ที่ลำต้นไม่ใหญ่ สูง ออกดอกเร็ว แต่วิธีนี้มีการชำติดยาก หากดูแลไม่ดี และระยะการชำติดนาน
สำหรับการปลูกด้วยเมล็ด จะใช้เมล็ดจากฝักแก่ที่ร่วงจากต้นหรือติดบนต้นที่มีลักษณะเปลือกฝักสีน้ำตาล จนถึง ดำ สามารถเก็บได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม นำมาทุบเปลือก และแกะเมล็ดออก ลักษณะเมล็ดพันธุ์ที่ดีควรเก็บจากต้นที่มีลำต้นตรง สูงใหญ่ ไม่มีโรค ฝักไม่รอยกัดแทะของแมลง ฝักอวบหนา เป็นมันเงา เมล็ดใน 1 กิโลกรัม จะได้เมล็ดประมาณ 7,400 เมล็ดเนื่องจากเมล็ดมีเปลือกหนา หากต้องการกระตุ้นการงอกที่เร็ว ให้ใช้วิธี ดังนี้ ให้นำเมล็ดมาแช่ในกรดกำมะถันเข้มข้น เป็นเวลา 45-60 นาที แล้วล้างน้ำให้สะอาดเฉือนเปลือกออกเล็กน้อย นำไปแช่ในน้ำเดือด นาน 2-3 นาที นำออกทิ้งไว้ให้เย็น
การเพาะชำ การเพาะหว่านในแปลงก่อนย้ายใส่ถุงเพาะชำ ทำโดยการหว่านในแปลงเพาะที่ใช้ดินผสมปุ๋ยคอกกองโรยให้สูง 15-20 ซม. หรือใช้ไม้แผ่นเป็นแบบกั้น เมื่อกองดินสูงได้ระดับหนึ่งแล้วจะหว่านเมล็ดก่อน แล้วใช้ดินโรยปิดหน้าบางๆอีกครั้ง หลังจากนั้น รดน้ำเป็นประจำ ซึ่งต้นอ่อนราชพฤกษ์จะงอกภายใน 15 วัน ทั้งนี้ ควรให้มีระยะห่างของเมล็ดพอควร อย่างน้อยประมาณ 5 ซม. ขึ้นไป เมื่อกล้าอายุได้ประมาณ 1 เดือน หรือมีความสูงประมาณ 5-7 เซนติเมตร ให้ถอนต้นย้ายไปเพาะในถุงพลาสติกขนาด 4 x 6 นิ้ว และดูแลให้น้ำอีกครั้ง
การเพาะในถุงเพาะชำ การเพาะวิธีนี้ จะทำให้ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายได้กว่าวิธีแรก ด้วยการนำเมล็ดเพาะในถุงพลาสติกได้เลยโดยไม่ผ่านการเพาะในแปลงก่อน ทำให้สามารถย้ายกล้าที่เติบโตแล้วลงแปลงปลูกได้ทันที
การเพาะจะใช้ดิน ผสมกับวัสดุเพาะ เช่น แกลบ ขี้เลื่อย เศษใบไม้ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก อัตราส่วนดินกับวัสดุเพาะที่ 1:1 หรือ 1:2 บรรจุในถุงเพาะพลาสติก หลังจากนั้นนำเมล็ดลงหยอด 1 เมล็ด/ถุง ทำการรดน้ำ และดูแลจนถึงระยะลงแปลงปลูก
การปลูก ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะทั้งสองวิธี จะมีระยะที่เหมาะสมที่ความสูงประมาณ 25-30 ซม. สามารถปลูกในพื้นที่ว่างที่ต้องการ แต่หากปลูกในแปลงที่ใช้กล้าตั้งแต่ 2 ต้น ขึ้นไป ควรมีระยะห่างระหว่างต้นที่ 4-6 เมตร หรือมากกว่าต้นคูนที่ปลูกในช่วง 2-3 ปีแรก จะเติบโตช้า แต่หลังจากนั้นจะเติบโตเร็วขึ้น อายุการออกดอกครั้งแรกประมาณ 4-5 ปี

Scroll to top