ชื่อสมุนไพร : จันทน์เทศ
ชื่ออื่นๆ : จันทน์บ้าน (ภาคเหนือ), ลูกจันทน์, ดอกจันทน์, หน่วยสาน, จันทน์ปาน (ทั่วไป), ปาลา (มลายู, มาเลเซีย), โหย่งโต้โต่, เหน็กเต่าโขว่ (จีน)
ชื่อสามัญ : Mace, Nutmeg, Nutmeg Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Myristica fragrans Houtt.
ชื่อวงศ์ : MYRISTICACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นจันทน์เทศ เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-18 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทาอมดำ เนื้อไม้สีนวลหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหย
- ใบจันทน์เทศ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลมรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เนื้อใบแข็ง หลังใบเรียบเป็นมันและเป็นสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ส่วนท้องใบเรียบและเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 6-12 มิลลิเมตร
- ดอกจันทน์เทศ เป็นช่อ ช่อละประมาณ 2-3 ดอก หรือออกเป็นดอกเดี่ยว โดยตะออกตามซอกใบ ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน กลีบดอกเชื่อมติดกัน ดอกเป็นรูปคนโทคว่ำ ปลายกลีบแยกออกเป็น 4 แฉกแหลม ดอกเป็นแบบแยกเพศกันอยู่คนละต้น ช่อดอกเพศผู้ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองอมขาว ลักษณะเป็นรูปไข่กลมรี ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร
- ผลจันทน์เทศ เป็นผลสด ค่อนข้างฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม รูปร่างคล้ายกับลูกสาลี่ ยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบเป็นสีเหลืองนวล สีเหลืองอ่อน หรือสีแดงอ่อน เมื่อผลแก่แตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร เมล็ดเป็นสีน้ำตาล เนื้อและเปลือกแข็ง มีจำนวน 1 เมล็ดต่อผล
- เมล็ดจันทน์เทศ โดยทั่วไปแล้วเราจะเรียกเมล็ดว่า “ลูกจันทน์” (Nutmeg) และเมล็ดจะมีเยื่อหุ้มหรือรกหุ้มเมล็ดสีแดงส้ม มีกลิ่นหอม ซึ่งเราจะเรียกรกหุ้มเมล็ดว่า “ดอกจันทน์” (Mace) โดยมีลักษณะเป็นริ้วสีแดงจัด รูปร่างคล้ายร่างแห เป็นแผ่นบางมีหลายแฉกหุ้มเมล็ด โดยจะรัดติดแน่นอยู่กับเมล็ด เมื่อนำมาแกะแยกออกจากเมล็ด รกที่แยกออกมาสดๆ จะมีสีแดงสด และเมื่อทำให้แห้งสีของรกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนหรือเป็นสีเนื้อ ผิวเรียบและเปราะ มีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และมีความหนาประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม รสขมฝาดและเผ็ดร้อน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อไม้, แก่น, เมล็ดใน, เปลือกเมล็ด, รกหุ้มเมล็ด
สรรพคุณ จันทน์เทศ :
- เนื้อไม้จันทน์เทศ แก่นจันทน์เทศ มีรสขมหอมร้อน แก้ไข้ดีเดือด ดีพลุ่ง แก้กระสับกระส่ายตาลาย เผลอสติ บำรุงตับ ปอด หัวใจ น้ำดี
- เมล็ดในจันทน์เทศ (ลูกจันทน์) แก้ธาตุพิการ บำรุงกำลัง แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด ขับลม รักษาอาการอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย แก้บิด แก้กำเดา แก้ท้องร่วง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้เสมหะโลหิต แก้ปวดมดลูก และบำรุงโลหิต
- เปลือกเมล็ดจันทน์เทศ รสฝาดมันหอม สมานบาดแผลภายใน แก้ท้องอืด แก้ปวดท้อง
- รกหุ้มเมล็ดจันทน์เทศ (ดอกจันทน์) บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ ขับลม แก้ปวดมดลูก แก้ท้องร่วง บำรุงกำลัง บำรุงผิวเนื้อให้เจริญ น้ำมันระเหยง่ายใช้เป็นส่วนผสมของขี้ผึ้งที่ใช้ทาระงับความปวด ใช้ขับประจำเดือน ทำให้แท้ง ทำให้ประสาทหลอน ประเทศอินโดนีเซียใช้บำรุงธาตุ แก้ปวดข้อ กระดูก
ข้อมูลเพิ่มเติม :
สำหรับส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ คือ ส่วนเยื่อหุ้มเมล็ด ที่เรียกว่า ดอกจันทน์ (Mace) ลักษณะเป็นริ้วสีแดงจัด ดูเหมือนร่างแห เป็นแผ่นบางมีหลายแฉกหุ้มเมล็ด โดยจะรัดติดแน่นอยู่กับเมล็ด เมื่อนำมาแกะแยกออกจากเมล็ด รกที่แยกออกมาใหม่ๆจะมีสีแดงสด เมื่อทำให้แห้งสีของรกจะเปลี่ยนจากสีแดงสดเป็นสีเหลืองอ่อน หรือ สีเนื้อ และเปราะ ผิวเรียบ ขนาดความยาว 3-5 เซนติเมตร ความกว้าง 1-3 เซนติเมตร ความหนา 0.5-1 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม รสขม ฝาด เผ็ดร้อน และเมล็ดของจันทน์เทศที่เรียกกันว่า ลูกจันทน์ (Nut meg) คือ เมล็ดที่เอาเปลือกเมล็ดออก (โดยเปลือกเมล็ดจะแข็งแต่เปราะ) ภายในคือส่วนของเนื้อในเมล็ด เมื่อผ่าดูจะเห็นเนื้อเป็นรอยย่นตามยาวของเมล็ด เมล็ดเมื่อทำแห้ง จะมีกลิ่นแรง หอมเฉพาะ รสขม ฝาด เปรี้ยว เผ็ดร้อน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ขับลมใช้จันทน์เทศ (รก) 4 อัน บดเป็นผงละเอียด ชงน้ำดื่มครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง 2-3 วัน ติดต่อกัน แก้อาการท้องอืด เฟ้อ ขับลม หรือ ใช้เมล็ด (ลูกจันทน์) 1-2 เมล็ด บดเป็นผงละเอียด ชงน้ำดื่มครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง 2-3 วัน ติดต่อกัน แก้อาการท้องอืด เฟ้อ ขับลม
- แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ ใช้ดอกจันทน์ (รก) 3-5 อัน ต้มกับน้ำพอประมาณ เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 เอาน้ำดื่ม หรือ ใช้ลูกจันทน์ 1-2 เมล็ด ทุบเอาเปลือกออก ย่างไฟพอเหลือง ต้มกับน้ำพอประมาณ เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 เอาน้ำดื่ม
- แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยใช้ดอกจันทน์ นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ชงกับน้ำดื่มครั้งเดียว วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน
- ในตำรับยาจีนใช้ แก้อาการท้องมาน บวมน้ำ แก้ธาตุพิการ โดยให้ใช้จันทน์เทศที่เป็นยาแห้ง 10 กรัม, เนื้อหมากแห้ง 10 กรัม, ดอกคังวู้ 15 กรัม นำมาบดเป็นผง แล้วทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ใช้รับประทานครั้งละ 10-20 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
- ช่วยรักษาม้ามหรือไตพิการ ด้วยการใช้ลูกจันทน์ หรือ ดอกจันทน์ 3-10 กรัม ขิง สด 8 กรัม, พุทราจีน 8 ผล, โป๋วกุ๊กจี 10 กรัม, อู่เว้ยจื่อ 10 กรัม, อู๋จูหวี 10 กรัม โดยนำทั้งหมดมารวมกันแล้วต้มกับน้ำเป็นยารับประทาน
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- การรับประทานดอกจันทน์ปริมาณมาก จะทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลง แขนขาไม่มีแรง คลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน การเต้นของหัวใจผิดปกติ และอาจตายได้
- เครื่องยาดอกจันทน์มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ฉะนั้นการใช้เครื่องยานี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง
- การกินลูกจันทน์ในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หัวใจเต้นผิดปกติ ปากแห้ง ชัก และอาจถึงตายได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ฉะนั้นการใช้เครื่องยานี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง
- น้ำมันจันทน์เทศ จากลูกจันทน์ มีสาร safrole เป็นองค์ประกอบซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และเป็นพิษต่อตับได้ จึงควรระวังในการใช้ไม่ให้มีสาร safrole เกิน 1% เพราะทำให้เกิดพิษได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจาก myristicin สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ glutathione-S-transferase ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดเนื้องอกฃ
- เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้จันทน์เทศ ในการนำมาเป็นยาสมุนไพร
จันทน์เทศมีการนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายด้าน ในอดีตมีการนำราก และเมล็ดจันทน์เทศมาทำเป็นเครื่องเทศ โดยเครื่องเทศที่ได้จากจันทน์เทศนี้เป็นที่นิยมไปทั่วโลก เช่น ในอินเดียมักใช้เป็นเครื่องเทศในอาหารโมกุล (Moghul) ชาวอาหรับมักใช้ปรุงอาหารที่ทำจากเนื้อแพะ เนื้อแกะ ชาวดัตช์ใส่ในมันฝรั่งบด สตู และฟรุตสลัด ครัวอิตาลีใส่ในอาหารจากผัก รวมทั้งไส้กรอก เนื้อวัว พาสต้า ชาวอินโดนีเซียนำไปทำแยม เยลลี่ ลูกกวาด ในยุโรปใช้ปรุงรสในเค้กน้ำผึ้ง เค้กผลไม้ ไทยนำไปผสมกับขนมปัง เนย แฮม ไส้กรอก เบคอน เนื้อตุ๋นต่างๆ แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น น้ำพริกสำเร็จรูป หรือ นำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เพื่อช่วยในการถนอมอาหาร ส่วนเนื้อผลของจันทน์เทศ ก็สามารถนำไปทำเป็นอาหารได้หลากหลายรูปแบบ นำผลมาทำแช่อิ่ม หยี่ หรือทำจันทน์เทศสามรส และยังใช้เนื้อผลสดกินเป็นของขบเคี้ยว มีรสออกเผ็ด และฉุน ส่วนน้ำมันลูกจันทน์ (Nutmeg oil or myristica oil) ที่ได้จากการกลั่นลูกจันทน์ด้วยไอน้ำ สามารถนำมาไปใช้แต่งกลิ่นผงซักฟอก ยาชะล้าง สบู่ น้ำหอม ครีม และโลชันบำรุงผิวได้ นอกจากนี้เนื้อไม้มีกลิ่นหอม สามารถนำมาใช้ทำเครื่องร่ำ น้ำอบไทย หรือ ใช้ทำเครื่องหอมต่างๆ ได้อีกด้วย
การขยายพันธุ์จันทน์เทศ
จันทน์เทศสามารถขยายพันธุ์ได้ โดยมีวิธีการ คือ นำเมล็ดจันทน์เทศมาเพาะในถุงเพาะชำแล้วรดน้ำให้ชุ่มทุกวันประมาณ 3-4 เดือน เมล็ดจะงอกเป็นต้นสูงประมาณ 1 ฟุต จึงย้ายลงปลูกในหลุม สำหรับการปลูก และการเตรียมดินก็เหมือนกับการเตรียมดิน และการปลูกไม้ผลทั่วๆ ไป โดยขุดหลุมลึกประมาณ 50×50 ซม. ลึก 30 ซม. ใส่ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักรองพื้นก้นหลุม แต่ถ้าดินเป็นดินที่มีอินทรียวัตถุสูงก็ไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้
สำหรับการปลูกจะใช้ต้นกล้าอายุประมาณ 1 เดือน ลงปลูกในหลุมปลูก ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวประมาณ 6-7.5x 6-7.5 เมตร การปลูกปกติจะปลูกต้นตัวผู้ และต้นตัวเมียในอัตราส่วน 1 ต่อ 10 เพราะต้นตัวผู้จะปลูกไว้เพื่อผสมเกสรเท่านั้น โดยมีอัตราการปลูก 25-36 ต้น/ไร่
ในระยะแรกของการปลูก ต้นจันทน์เทศต้องการร่มเงา เพื่อการเจริญเติบโตมาก จึงควรปลูกพืชอื่นแซมให้ร่มเงา หรือ ทำที่บังแดดให้ในระยะแรกด้วย ส่วนการให้น้ำ ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน และหมั่นกำจัดวัชพืช บริเวณโคนต้น และไม่ควรกวาดใบไม้แห้ง หรือ ขยะมาสุมบริเวณโคนต้น เพราะอาจทำให้ต้นจันทน์เทศตายได้
ทั้งนี้ ต้นจันทน์เทศ สามารถขึ้นได้ในสภาพของดินเกือบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมควรเป็นดินร่วนปนทราย ที่มีอินทรีย์วัตถุสูง และต้นจันทน์เทศสามารถเจริญได้ดีในเขตภูมิอากาศร้อนชื้น รวมถึงต้องการปริมาณน้ำฝนปีละ 2,000-2,500 มิลลิเมตร สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงความสูงประมาณ 900 เมตร
ถิ่นกำเนิดจันทน์เทศ
จันทน์เทศมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ที่เกาะบันดา ในหมู่เกาะโมลุกกะ อันได้ชื่อว่าเป็นหมู่เกาะเครื่องเทศ ในประเทศอินโดนีเซีย และยังถือกันว่าจันทน์เทศเป็นพืชพื้นเมืองของหมู่เกาะนั้นอีกด้วย ต่อมาเมื่ออังกฤษเข้าครอบครองหมู่เกาะโมลุกกะจึงได้นำเมล็ดจันทน์เทศ ไปปลูกยัง สิงคโปร์ เกาะวินเซอร์ ทรินิแคด ปีนัง สุมตรา เกาะเกรนาดาในอเมริกาใต้ และในศรีลังกา เป็นต้น แล้วจึงมีการแพร่พันธุ์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วเขตร้อนของโลก เช่นในปัจจุบัน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้มากทางภาคตะวันออก และทางภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช และชุมพร