ชื่อสมุนไพร : ช้าพลู
ชื่ออื่น ๆ : ชะพลู, ผักอีเลิด(อีสาน), นมวา(ภาคใต้), ผักปูนา, ผักพลูนก, พลูลิง, ผักอีไร(เหนือ), ผักแค
ชื่อสามัญ : Wildbetal Leafbush
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper sarmentosum Roxb.ex Hunter
ชื่อวงศ์ : PIPERACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นช้าพลู เป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มเตี้ย เป็นไม้พันอาศัย หรือเถาทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ปลายยอดตั้งขึ้น ลำต้นสีเขียวกลม มีข้อเป็นปม สูง 30-80 เซนติเมตร มีไหลงอกเป็นต้นใหม่ได้ ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะ ต้นและใบมีรสเผ็ดซ่าเล็กน้อย
- ใบช้าพลู เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ กว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร สีเขียวเข้ม ผิวใบเป็นมันลื่น แผ่นใบบาง หลังใบและท้องใบเรียบ ตัวใบรูปหัวใจ ตัวใบตามยอดรูปขอบขนาน โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ตอนล่างของลำต้น ขอบใบเรียบ ด้านหลังใบมีขนตามเส้นใบ มีเส้นแขนงใบ 7 เส้น เห็นชัดเจน ใบช่วงล่างใหญ่กว่าใบยอดกิ่ง ก้านใบยาว 1-3 เซนติเมตร
- ดอกช้าพลู เป็นช่อออกตามซอกใบและตามปลายยอด ดอกขนาดเล็กอัดเรียงกันเป็นช่อรูปทรงกระบอก ตั้งตรง ปลายมน คล้ายดอกดีปลีแต่สั้นกว่า ดอกย่อยแยกเพศ ช่อดอกตัวเมียยาว 6-8 มิลลิเมตร ช่อดอกตัวผู้ยาว ก้านช่อดอกยาว 1-2.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กมากกลีบดอกสีขาว เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร
- ผลช้าพลู เป็นผลสดสีเขียวเป็นกลุ่ม ลักษณะกลม ผิวมัน อัดกันแน่นอยู่บนแกน เมล็ดมีขนาดเล็ก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น, ใบ, ราก, ผล
สรรพคุณ ช้าพลู :
- ทั้งต้น รสเผ็ดร้อน ขับเสมหะ แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ แก้หวัด
- ใบ รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลม ช่วยเจริญอาหาร ทำให้เลือดลมซ่าน ขับเสมหะ แก้เบาหวาน
- ราก รสร้อน ขับเสมหะ บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้
- ราก ผล และใบ ทำให้ร่างกายอบอุ่น แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร รักษาอาการปวดกระเพาะเนื่องจากความเย็นพร่องในธาตุ แก้ธาตุน้ำพิการ แก้ไอเย็น ขับเสมหะ แก้บวมน้ำ แก้ไข้จับสั่น แก้ปวดฟัน ปวดกระดูกเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ฟกช้ำ ใช้ภายนอก รักษาขาเน่าขาเปื่อย
- ผล รสเผ็ดร้อน แก้เสมหะที่คอ ทำให้เสมหะแห้ง ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร