ชื่อสมุนไพร : ดีงูต้น
ชื่ออื่น : กรอสะนาสมูล (เขมร-ภาคตะวันออกเฉียงใต้); กอมขม, ขางขาว, ขางครั่ง, มะค้า (ภาคเหนือ); กะลำเพาะต้น, หมาชล (ชลบุรี); ดำ (นครศรีธรรมราช); ดีงูต้น (พิษณุโลก); ตะพ้านก้น (เชียงใหม่); เนียปะโจะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); มะปอจอ (กะเหรี่ยง-ภาคเหนือ); ไม้หอมตัวผู้ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); หงีน้ำ, หยีน้ำใบเล็ก (ตรัง); หมักกอม (เงี้ยว-เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Picrasma javanica Bl.
ชื่อวงศ์ : SIMAROUBACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นดีงูต้น ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 เมตร แยกแพศร่วมต้นหรือมีดอกสมบูรณ์เพศด้วย หูใบรูปรี ยาว 0.7-2.5 เซนติเมตร ร่วงเร็ว
- ใบดีงูต้น ใบประกอบเรียงเวียน มีใบย่อย 2-4 คู่ ก้านใบประกอบยาว 2-6 เซนติเมตร ใบย่อยรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 4-20 เซนติเมตร ก้านใบย่อยสั้น
- ดอกดีงูต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก กลีบดอก 4 กลีบ รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 2-5 มิลลิเมตร ในดอกเพศเมียยาว 3-7 มิลลิเมตร ติดทน ขยายในผลยาว 1-2 ซม. เกสรเพศผู้ 4 อัน ยาว 0.5-5.0 มิลลิเมตร ก้านชูอับเรณูมีขนที่โคน จานฐานดอกขยายในผล มี 4 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมีออวุลเม็ดเดียว ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร
- ผลดีงูต้น มี 1-4 ผลย่อยติดบนจานฐานดอก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร สีขาว เขียว หรือฟ้าอมน้ำเงิน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกต้น, เนื้อไม้
สรรพคุณ ดีงูต้น :
- เปลือกต้น รสขม แก้ไข้จับสั่น ไข้ปาง ไข้ทุกชนิด (มีสารแอลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง)
- เนื้อไม้ดี รสขม แก้ไข้จับสั่น ไข้ตัวร้อน