ชื่อสมุนไพร : ตะขบไทย
ชื่ออื่นๆ : ครบ(ปัตตานี), มะเกว๋นควาย(ภาคเหนือ), ตะขบควาย(ภาคกลาง), กือคุ(มลายู ปัตตานี)
ชื่อสามัญ : Coffee Plum, Indian Cherry, Indian Plum, East Indian Plum, Rukam และ Runeala Plum
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Flacourtia jangomas (Lour.) Raeusch.
ชื่อวงศ์ : FLACOURTIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นตะขบไทย เป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้น เรือนยอดเป็นรูปไข่ทึบ โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนอ่อน แตกลอนเป็นแผ่นบางๆ
- ใบตะขบไทยเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบกลมคล้ายกับใบพุทรา โดยมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปหอกกลับ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ส่วนขอบใบจักตื้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียว ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเป็นมัน
- ดอกตะขบไทย เป็นสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะสั้นตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศ อยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้มีกลีบดอก 5 กลีบ และมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียว มีขนทั้งสองด้าน มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนดอกเพศเมียจะคล้ายกับดอกเพศผู้ มีรังไข่เป็นรูปคนโท เกสรเพศเมียมี 2 พู
- ผลตะขบไทย เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นลูกกลมๆ ขนาดเท่าลูกพุทรา ขนาดประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกเป็นสีแดงหรือสีม่วง เมื่อแก่เป็นสีดำ ผลมีรสหวานฝาดเล็กน้อย ภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, เนื้อไม้, ผล
สรรพคุณ ตะขบไทย :
- ราก มีรสฝาดเล็กน้อย นำมาปรุงเป็นยาขับเหงื่อ เป็นยากล่อมเสมหะและอาจม
- เนื้อไม้ มีรสฝาด ใช้ทำยาแก้ท้องร่วง แก้บิด มูกเลือด
- ผล มีใยอาหาร แคลเซียม และโพแทสเซียมสูง ช่วยดูดซับคอเรสเตอรอล ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้และเส้นเลือดสมองแตก