ติ้วขน

ติ้วขน

ชื่อสมุนไพร : ติ้วขน
ชื่ออื่นๆ :
 กวยโชง, กุยฉ่องเซ้า, ตาว, ติ้วแดง, ติ้วยาง, ติ้วเลือด, ติ้วเหลือง, แต้ว, แต้วหิน, ติ้วขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cratoxylum formosum (Jack.) Dyer subsp. Pruniflorum Gogel.
ชื่อวงศ์ : CLUSIACEAE (GUTTIFERAE)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นติ้วขน เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 8-15 เมตร เปลือกนอกสีน้ำตาลปนดำ แตกเป็นสะเก็ดตามยาว เปลือกในสีน้ำตาลเหลืองและมียางเหนียว ๆ สีเหลืองปนแดง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง กิ่งเล็กตามลำต้น มักกลายสภาพเป็นหนามแข็ง ๆ
  • ใบติ้วขน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-13 เซนติเมตร แผ่นใบบางมีขนทั้งสองด้าน หลังใบมีขนสาก ๆ ส่วนท้องใบเป็นขนนุ่มหนาแน่น ส่วนใบอ่อนเป็นสีแดงหรือสีชมพูเรื่อ ใบแก่ก่อนผลัดใบเป็นสีแดง
  • ดอกติ้วขน ดอกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ ดอกเป็นสีชมพูอ่อนถึงสีแดง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเกลี้ยงและยาวประมาณ 2 เท่าของกลีบเลี้ยง ขอบกลีบดอกมีขนสีขาว ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ มีขนขึ้นประปรายอยู่ด้านนอก ดอกมีเกสรเพศผู้มาก และแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม รังไข่มีลักษณะเป็นรูปรี ๆ เกลี้ยง ๆ
  • ผลติ้วขน ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปรี ปลายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร ผลแข็งมีคราบสีนวล ๆ ตามผิว มีกลีบเลี้ยงหุ้มเกินครึ่งผล ผลเมื่อแห้งจะแตกอ้าออกได้เป็น 3 พู สีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานเล็ก ๆ และมีปีกโค้ง ๆ

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ใบ, ต้น, เปลือกต้น, ยางจากเปลือกต้น

สรรพคุณ ติ้วขน :

  • ราก ผสมกับหัวแห้วหมู และรากปลาไหลเผือก ต้มน้ำดื่ม วันละ 3 ครั้ง ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด
  • น้ำยาง ทารอยแตกของส้นเท้า
  • รากและใบ น้ำต้มกินเป็นยาแก้ปวดท้อง
  • ต้น ยางจากเปลือกต้น ทาแก้คัน
  • เปลือกต้น ต้มดื่มกินแก้ธาตุพิการ
  • เปลือกและใบ ตำผสมกับน้ำมันมะพร้าว ทาแก้โรคผิวหนังบางชนิด
Scroll to top