ชื่อสมุนไพร : ต่อไส้
ชื่ออื่นๆ : ก้ามปู, หมากก้ามปู(อุบลราชธานี), กวง, กุม, โลด, โลดน้ำ, ต่อไส้ขาว, สิบไส้(ภาคใต้),ไก่เถื่อน, ตาลอีลิ้น(ภาคกลาง), ข้าวตาก, ง้วนพู(ภาคตะวันออก), คางลาง(ภาคกลาง), จ๊าตอง, เพี้ยฟาน(ภาคเหนือ), ตานโขมย(กาญจนบุรี), แมงเม่า(ภาคตะวันออกเฉียงใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allophylus cobbe (L.) Raeusch.
ชื่อวงศ์ : Sapindaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นต่อไส้ เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 1.5-3 เมตร ลำต้นตั้งตรง กิ่งอ่อนยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองปกคลุม กิ่งสีน้ำตาลอ่อนแกมเทา รูปทรงกระบอก มีรูเปิดอากาศเล็กๆรูปทรงกลม
- ใบต่อไส้ ประกอบแบบนิ้วมือมีใบย่อย 3 ใบ เรียงเวียน ใบย่อยใบกลางรูปไข่แกมขอบขนานถึงรูปใบหอก กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร อาจพบที่แผ่นใบข้างทั้งสองมีขนาดเล็กกว่าใบกลาง แผ่นใบข้างรูปไข่เบี้ยว หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่เบี้ยว เนื้อใบบาง เหนียว ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบช่วงบนจักฟันเลื่อย ช่วงล่างเรียบ ใบย่อยผิวใบเรียบ หรืออาจมีขนนุ่มที่เส้นใบย่อย ท้องใบมีขนสั้นๆที่เส้นกลางใบ ก้านใบร่วมยาว 5-11 เซนติเมตร มีขน ก้านใบย่อยยาว 3-12 มิลลิเมตร
- ดอกต่อไส้ เป็นช่อกระจะยาว รูปทรงกระบอก ไม่แตกแขนง ยาวเท่ากับใบ มีขนสั้นนุ่ม ออก 2-4 ช่อ ที่ซอกใบหรือใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอก 4 กลีบ มีขนาดเล็กสีขาวออกเหลือง รูปช้อน เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตร ยาว 0.5-1 มิลลิเมตร มีเกล็ดเล็ก 2 อัน มีขนอุย กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ยาว 0.5-1 มิลลิเมตร รูปไข่ป้าน ก้านชูเกสรเพศผู้มีขนนุ่มที่ฐาน ผลสด รูปไข่กึ่งทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-12 มิลลิเมตร
- ผลต่อไส้ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกสีแดง มีเมล็ดเดียวแข็ง พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้งทั่วไป ที่ระดับน้ำทะเล 300-1,200 เมตร ออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ติดผลราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ราก, เปลือกต้น, ทั้งต้น
สรรพคุณ ต่อไส้ :
- ใบต่อไส้ เป็นส่วนผสมปรุงยาช่วยในการคลอดบุตร น้ำคั้นทาแก้ลิ้นเป็นฝ้าในเด็ก
- ใบอ่อนต่อไส้ ตำผสมดินสอพอง สุมกระหม่อมเด็กแก้หวัด
- รากต่อไส้ รสจืดเอียน ใช้พอกแก้ปวดท้อง เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาเส้นเอ็นที่ชำรุดให้สมบูรณ์
- ใบและเปลือกต้นต่อไส้ เป็นยาพอกแก้ฟกช้ำ
- ต่อไส้ทั้งต้น แก้ไข้จับสั่น