ชื่อสมุนไพร : ถ่อน
ชื่ออื่น ๆ : ทิ้งถ่อน ถินถ่อน, นมหวา นุมหวา (ไทยภาคกลาง), แซะบ้อง, เซะบ้อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ชื่อสามัญ : White Siris
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albizia procera (Roxb.) Benth.
ชื่อวงศ์ : MIMOSEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นถ่อน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 15-30 เมตร เส้นรอบอก 35 ซม. ลำต้นเปลามักโค้ง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมโปร่ง ขณะที่แตกใบอ่อนเรือนยอดจะออกสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีน้ำตาลอมแดง มีการแตกกอค่อนข้างดี เปลือกสีขาวอมเขียวและมีรอยด่างสีน้ำตาลเป็นแผ่น ๆ ทั่วลำต้น เปลือกในสีแดง ตามยอดและกิ่งอ่อนมีขนปกคลุมประปราย
- ใบถ่อน ออกช่อแบบขนนกสองชั้น ช่อติดเรียงสลับ ใบยาว 30-40 ซม. บนแกนช่อใบมีช่อใบแขนงที่ออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน 4-11 คู่ ยาว 15-20 ซม. แต่ละช่อแขนงจะมีใบย่อยออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกันจำนวน 5-10 คู่ ก้านใบย่อยสั้นมาก ยาว 1-3 มม. ใบย่อยเบี้ยวรูปปรี คล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ แผ่นใบเบี้ยวไม่ได้สัดส่วน กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 3-5 ซม. ปลายใบมน ฐานใบมนและเบี้ยว หลังใบเกลี้ยงท้องใบมีขนละเอียดคลุมประปรายโดยเฉพาะบริเวณเส้นกลางใบสีนวลจางกว่าด้านหลังใบ
- ดอกถ่อน มีขนาดเล็ก สีขาว ไม่มีก้านดอก ขึ้นอัดแน่นบนแกนช่อดอกรูปทรงกลมบนก้านช่อยาวประมาณ 1.3-2 ซม. ช่อดอกแต่ละช่อแตกแขนงมาจากช่อใหญ่หรือรวมกลุ่มกันเป็นช่อใหญ่ตามง่ามใบ ที่ปลายกิ่งหรือใกล้ปลายกิ่งกลีบรองกลีบดอกติดกันคล้ายรูปแตร ยาวประมาณ 2-3 มม. กลีบดอกติดกันคล้ายรูปแตร ยาวประมาณ 4 มม. รังไข่ รูปรี ๆ ภายในมีช่องเดียวแต่มีไข่อ่อนมาก
- ผลถ่อน ออกเป็นฝัก สีน้ำตาล รูปบรรทัดบางและแบนเรียบ กว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 10-15 ซม. หัวแหลมท้ายแหลม เมล็ด แบน สีน้ำตาล ฝักหนึ่ง ๆ มีเมล็ด 6-12 เมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบต้นถ่อน, เปลือกต้นถ่อน, รากต้นถ่อน
สรรพคุณ ถ่อน :
- ใบ นำไปเผาไฟแล้วผสมกับน้ำยาสูบฉุน ๆ ละลายปูนขาวข้น ๆ ใช้ฉีดฆ่าตัวสัตว์และหนอนได้ดีมากเปลือก นำไปต้มกับรากมะตูม รักษาอาการท้องร่วงและอาเจียน
- เปลือกต้น ใช้เป็นยารักษาท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นยาเจริญอาหาร บำรุงธาตุ รักษาธาตุพิการและใช้ขับลมผาย
- รากหรือแก่น นำไปต้มกินรักษาอาการท้องอืด บรรเทาอาการเจ็บหลัง เจ็บเอว และเส้นท้องตึง