ชื่อสมุนไพร : ทรงบาดาล(ภาคกลาง),
ชื่ออื่นๆ : ขี้เหล็กหวาน(ขอนแก่น), ขี้เหล็กบ้าน(ภาคเหนือ)
ชื่อสามัญ : Scrambled Egg Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna surattensis (Burm.f.) Irwin & Barneby Donn.Sm.
ชื่อวงศ์ : CAESALPINIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นทรงบาดาล เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่มีความสูงได้ถึง 7 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามากเป็นเรือนยอด เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนสีเทา แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ
- ใบทรงบาดาล เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 5-10 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร หลังใบเรียบ ท้องใบมีขนสั้นปกคลุม ขอบใบเรียบ ปลายใบและโคนใบโค้งมน
- ดอกทรงบาดาล ออกดอกเป็นช่อตามศอกใบใกล้กับปลายยอด ในช่อดอกมีดอกประมาณ 10-15 ดอก มีก้านดอกรวมยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ มีขนาดประมาณ 4-5 มิลลิเมตร เมื่อดอกบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอมเหลือง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 อัน เป็นหมัน 3 อัน โดยต้นทรงบาดาลมีดอกดก และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
- ผลทรงบาดาล ออกผลเป็นฝักแบน เรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่แล้วจะแตกออกตามตะเข็บ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 15-25 เมล็ด ผิวของเมล็ดเป็นมันเงา มีขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก
สรรพคุณ ทรงบาดาล :
- ราก ใช้รับประทานเป็นยาถอนพิษผิดสำแดง(ไข้ซ้ำ) นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้สะอึก หรือจะใช้รากร่วมกับเถาสะอึกและรากมะกล่ำเครือ เป็นยาแก้อาการสะอึกอันเนื่องมาจากกระเพาะอาหารขยายตัว