ชื่อสมุนไพร : นุ่น
ชื่ออื่น ๆ : ง้าว, งิ้วสาย, งิ้วสร้อย, งิ้วน้อย (กลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ceiba pentandra Gaertn.
ชื่อวงศ์ : BOMBACACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นนุ่น ไม้ยืนต้น ผลัดใบในฤดูแล้ง ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ลำต้นสูงใหญ่ เปลาตรง แผ่พุ่มกว้างบริเวณยอด พบหนามตามโคนต้น ลำต้นมีสีเขียว สูง 8-30 เมตร
- ใบนุ่น เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับ ใบย่อย 5-9 ใบ รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 1.5-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-16 เซนติเมตร ปลายรูปหอกเรียวแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบเรียวแหลม ก้านใบและเส้นใบมีสีน้ำตาลแดง ก้านใบย่อยยาว 0.3-0.5 เซนติเมตร ก้านใบร่วมยาว 8-20 เซนติเมตร
- ดอกนุ่น เป็นช่อกระจะ ออกที่ซอกใบ ขนาด 2-3.5 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ยาว 1-1.5 นิ้ว กลีบดอกสีขาวแกมเหลือง กลีบดอกติดกันที่ฐาน กลีบด้านนอกเป็นสีขาวนวล และมีขน ด้านในสีเหลือง เกสรตัวผู้ 5-6 อัน ก้านเกสรตัวเมียไม่แยก
- ผลนุ่น เป็นฝักยาวรี แห้งแตก รูปขอบขนาน กว้าง 2 นิ้ว ยาว 4-5 นิ้ว ปลายและโคนผลแหลม เปลือกแข็ง แตกเป็น 5 พู เมล็ดจำนวนมาก สีดำ มีเส้นใยสีขาวคล้ายเส้นไหมยาวหุ้มเมล็ด เป็นปุยนุ่น นำมายัดใส่หมอน ที่นอน ฝักอ่อนมากๆที่เนื้อยังไม่เปลี่ยนเป็นปุยนุ่น ใช้เป็นอาหารได้ โดยรับประทานสด หรือใส่แกง
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก, ราก, เมล็ด, ใบ, ใบอ่อน, ผลอ่อน, ทั้งต้น, เปลือกต้น
สรรพคุณ นุ่น :
- ดอกแห้ง แก้ไข้ แก้ปวด
- ราก รสจืดเอียน ต้มน้ำดื่ม เป็นยาบำรุงกำลัง แก้บิดเรื้อรัง แก้ท้องเสีย ทำให้อาเจียน ขับปัสสาวะ แก้พิษแมลงป่อง ตำคั้นเอาน้ำดื่ม แก้เบาหวาน
- เมล็ด รสเอียนมัน น้ำมันจากเมล็ด รสร้อน เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ยางไม้ รสฝาดเมา เป็นยาบำรุงกำลัง ฝาดสมาน แก้ท้องร่วง แก้ระดูขาวมากเกินไป
- ใบ รสเย็นเอียน ตำพอกแก้ฟกช้ำ เผาไฟ ผสมหัวขมิ้นอ้อยและข้าวสุก พอกฝี ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ แก้โรคเรื้อน ตำกับหัวหอม ขมิ้น ผสมน้ำดื่มแก้ไอ แก้เสียงแหบ แก้หวัดลงท้อง แก้ท่อปัสสาวะอักเสบ
- ใบอ่อน รับประทานแก้เคล็ดบวม
- ผลอ่อน รสหวานฝาดเย็น เป็นยาสมาน
- ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ไอ แก้ไข้
- เปลือกต้น รสเย็นเอียน แก้ไข้ แก้บิด แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ทำให้อาเจียน บำรุงกำหนัด ต้มดื่มแก้หืด แก้หวัดในเด็ก ต้มร่วมกับหมาก ลูกจันทน์เทศ และน้ำตาล ดื่มขับปัสสาวะ ใช้ได้ดีในรายที่เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ