ชื่อสมุนไพร : บานเย็น
ชื่ออื่น ๆ : ตามยาม, จันยาม, จำยาม(ภาคเหนือ), บานเย็น(ทั่วไป), จีปักหลี(จีน-แต้จิ๋ว)
ชื่อสามัญ : Four O Clock Plant, marvel of Peru.
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mirabilis jalapa Linn.
ชื่อวงศ์ : NYCTAGINACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ใบบานเย็น จะเป็นสีเขียว และจะออกตรงข้ามกัน ลักษณะของตัวใบจะกลมรี ตรงปลายใบของมันจะแหลม ส่วนฐานใบนั้นจะกว้างและโค้งเข้า คล้ายกับรูปหัวใจ และมีความยาวประมาณ 4-10 ซม.
- ดอกบานเย็น จะออกเป็นช่อ มีหลายสี และจะมีดอกย่อยหลายดอก ดอกหนึ่งจะมีกลีบเลี้ยงประมาณ 5 กลีบ เป็นสีเขียว ลักษณะ กลีบดอกจะติดกันเป็นหลอด และมีกลีบรองดอกติดกันแน่น กลีบดอกนั้นจะเป็นสีขาว แดงออกม่วง และเหลืองดอกนั้นจะบานเวลาบ่าย และหุบเวลาเช้า เกสรตัวผู้จะมีความยาวพอ ๆ กับกลีบดอก ส่วนเกสรตัวเมียจะมีอยู่ 1 อัน เป็นเส้นยาว ๆ ตรงปลายจะเป็นตุ่ม
- รากบานเย็น จะมีลักษณะพองเป็นหัว และมีเส้นผ่าศูนย์กลางได้ยาวประมาณ 10 ซม.
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ดอก, เมล็ด, ราก
สรรพคุณ บานเย็น :
- ใบ ใช้เป็นยารักษากลากเกลื้อน พอกฝี เป็นแผลมีหนองต่าง ๆ ทำให้หนองออก ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ชะล้างบาดแผล แผลฟกช้ำ ผื่นแดงที่คัน ช่วยบรรเทาอาการคัน และแสบร้อน ขับปัสสาวะ และโรคหนองใน
- ดอก รักษาอาการกระอักเลือด และอาเจียนเป็นเลือด
- เมล็ด รักษาโรคผิวหนังพองมีน้ำเหลือง แผลมีน้ำเหลือง รักษาฝ้า และเป็นรอยด่างดำบนใบหน้า
- ราก มี alkaloid trigonelline ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย รักษาโรคหนองใน ตกขาวมากผิดปกติ รักษาอาการปวดตามข้ออย่างเฉียบพลัน แผลเรื้อรังบริเวณหลัง เป็นยาขับเหงื่อ และรักษาอาการไข้