ชื่อสมุนไพร : ผักขวง
ชื่ออื่น ๆ : สะเดาดิน, ผักขี้ขวง(ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glinus oppositifolius (Linn.)A.DC.
ชื่อวงศ์ : AIZOACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ผักขวง ป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเตี้ยหรือทอดเลื้อยแตกแขนงแผ่ราบไปกับพื้นดิน แตกกิ่งก้านสาขาแผ่กระจายออกไปรอบ ๆ ต้น ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจ้า เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ทนแล้งได้ดี
- ใบผักขวง ใบเป็นใบเดี่ยว ใบมีขนาดเล็ก แตกใบออกตามข้อต้น ซึ่งในแต่ละข้อจะมีใบอยู่ประมาณ 4-5 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบสั้น
- ดอกผักขวง ป็นดอกเดี่ยวรวมกันอยู่ตามข้อของลำต้นใกล้ ๆ กับใบ ในข้อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 4-6 ดอก ดอกเป็นสีขาวอมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ แต่ละกลีบมีขนาดยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวกว่ากลีบดอก โดยจะมีความยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร
- ผลผักขวง ลักษณะของผลเป็นรูปยาวรี มีขนาดยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 3 แฉก ทำให้เห็นเมล็ดที่อยู่ภายในผลได้ชัดเจน เมล็ดมีจำนวนมาก สีน้ำตาลแดง มีขนาดเท่ากับเม็ดทราย
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น
สรรพคุณ ผักขวง :
- ทั้งต้น มีรสขมเย็น ปรุงเป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงน้ำดี แก้ไข้ทั้งปวง ระงับความร้อน และถ้านำต้นสดมาตำผสมกับขิงจะเป็นยาสุมกระหม่อมเด็ก ปวดศีรษะ แก้หวัด แก้ไอ
- ในประเทศอินเดียใช้ปรุงเป็นยาระบาย บำรุงธาตุ แก้คัน เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง หรือยาฆ่าเชื้อ แต่ถ้าผสมกับน้ำมันละหุ่งแล้วนำไปอุ่น จะเป็นยาแก้ปวดหู หยอดหู
ผักขวงเป็นผักที่มีรสขมคล้ายสะเดา บางแห่งจึงเรียกผักชนิดนี้ว่า “สะเดาดิน” โดยชาวบ้านตามชนบทจะใช้ผักขวงเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกและรับประทานร่วมกับลาบ บ้างนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกหรือนำมาแกงรวมกับผักอื่น ๆ แกงแค แกงเมือง หรือแกงกับปลาทูนึ่งรับประทาน