ชื่อสมุนไพร : ผักตบไทย
ชื่ออื่นๆ : ผักสิ้น (สงขลา), ผักตบ ผักโป่ง (ภาคกลาง), ผักตบเขียด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monochoria hastata (L.) Solms
ชื่อวงศ์ : Pontederiaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ผักตบไทย พืชล้มลุกขึ้นในน้ำ อายุหลายปี รากยึดเกาะกับดินไม่ลอยน้ำ มีลำต้นส่วนที่ทอดนอนอยู่ใต้ดิน ที่เรียกว่าไหล ส่วนเหนือดินสูงถึง 1 เมตร มีกาบใบหุ้มโดยตลอด ต้นมีลักษณะเป็นกอ
- ใบผักตบไทย เป็นใบเดี่ยว ก้านใบส่วนล่างมีลักษณะเป็นกาบหุ้มซ้อนๆกัน ก้านใบส่วนบนกลมยาว และอวบน้ำ รูปร่างของแผ่นใบ เป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายหัวลูกศร กว้าง 0.9-1.9 เซนติเมตร ยาว 4.5-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเว้าลึก ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน
- ดอกผักตบไทย เป็นดอกช่อแบบช่อกระจะ ออกบริเวณใกล้แผ่นใบ ดอกแทงมาจากราก สูง 2 ใน 3 ของความยาวของก้านใบ มีแผ่นใบประดับสีเขียวรองรับ ดอกย่อย 15-16 ดอก กลีบดอกบอบบาง สีน้ำเงินปนม่วง หรือสีฟ้าปนม่วง แต่ละดอกมีก้านดอกย่อยยาว 3-4 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีจำนวน 6 กลีบ เรียง 2 วง วงละ 3 กลีบ เมื่อบานแล้ว กลีบจะบิดพันกันเป็นเกลียว เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดอยู่บนวงกลีบรวม ขนาดสั้น 5 อัน ยาว 1 อัน
- ผลผักตบไทย ผลแห้งแตกแบบแคปซูล ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น, ใบ
สรรพคุณ ผักตบไทย :
- ทั้งต้น รสจืด มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษในร่างกาย ขับลม ต้นสดใช้ตำพอกแก้แผลอักเสบ หรือใช้เป็นยาทาหรือพอกถอนพิษ แก้อาการปวดแสบปวดร้อน
- ใบ ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาทาแก้ฝี เป็นยาขับพิษร้อน
ยอดอ่อน ก้านใบอ่อน ช่อดอก ใช้เป็นผักสด ลวกจิ้มน้ำพริก หรือทำแกงส้ม