ชื่อสมุนไพร : ผักบุ้งรั้ว
ชื่ออื่นๆ : ผักบุ้งฝรั่ง, โหงวเหยียวเล้ง (แต้จิ๋ว), อู่จ่าวหลง (จีนกลาง), Railway Creeper
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea cairica Linn.
ชื่อวงศ์ : Convolvulaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นผักบุ้งรั้ว เป็นพรรณไม้เลื้อยหรือไม้เถาล้มลุก มีเง้า ลำต้นสามารถเลื้อยไปได้ยาวและไกลประมาณ 5 เมตร ลำต้นเป็นปล้อง ๆ สีเขียวหรือสีเขียวอมเทา ตามลำต้นจะมีตุ่มเล็ก ๆ ติดอยู่
- ใบผักบุ้งรั้ว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อของต้น ใบคล้ายรูปฝ่ามือ แยกออกเป็น 5 แฉก แฉกลึกถึงโคน แฉกกลางมีขนาดใหญ่กว่า แต่ละแฉกมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปแกมใบหอก ปลายใบแต่ละแฉกมีลักษณะแหลม ขอบใบเรียบ มีขนาดยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนทั้งหน้าใบและหลังใบ ใบที่โคนมักแยกออกเป็นแฉก ก้านใบยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร
- ดอกผักบุ้งรั้ว ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและออกดอกเป็นช่อตามซอกใบหรือยอดต้น มีดอกประมาณ 1-3 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ดอกเป็นรูปแตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ยาวประมาณ 0.4-0.9 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปแตรหรือรูปลำโพง มีขนาดยาวประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีม่วง สีม่วงอ่อน สีม่วงแดง สีชมพู หรือสีขาวอมเขียว แต่ใจกลางดอกจะมีสีเข้มกว่า กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน
- ผลผักบุ้งรั้ว ผลเป็นแบบแคปซูล ลักษณะกลม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลเมื่อแก่จะแห้งและแตกออก ภายในผลมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมและสั้น เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอมเทาหรือสีดำ มีขนาดเส้นประมาณ 0.5 เซนติเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น, ใบ, เมล็ด, และราก
สรรพคุณ ผักบุ้งรั้ว :
- ทั้งต้น ใช้แก้ไอ ขัดเบา นิ่วที่มีปัสสาวะเป็นเลือด ฝีบวม
- ใบ ในอัฟริกาใต้ใช้ตำพอกหรือทาแก้ผื่นคัน
- เมล็ด ในอินเดียใช้เป็นยาถ่าย
- รากและใบ แม้มีรสขมแต่ในฮาวายใช้เป็นอาหาร