ชื่อสมุนไพร : ผักเบี้ยใหญ่
ชื่ออื่นๆ : ผักเบี้ยดอกเหลือง (ภาคกลาง) , ผักกาโค้ง (โคราช) , ผักตะก้ง , ผักตาโก้ง (อุบลราชธานี),ผักอีหลู (ไทยใหญ่) , ตือบ้อฉ่าย , แบขี่เกี่ยง (จีน)
ชื่อสามัญ : Purslane, Pigweed purslane
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Portulaca oleraceae Linn.
ชื่อวงศ์ : PORTULACACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ผักเบี้ยใหญ่ เป็นพืชล้มลุกอวบน้ำ ลำต้นเตี้ยแผ่ไปตามพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร หรืออาจชูตั้งขึ้นสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำมีสีเขียวอมม่วง หรือม่วงอมแดง ลำต้นและก้านกลมเรียบไม่มีขน
- ใบผักเบี้ยใหญ่ เป็นแบบใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน โดยจะออกตามข้อของลำต้นและกิ่ง รูปร่างของใบคล้ายลิ้น หลังใบมีสีเขียวแก่ ส่วนท้องใบมีสีแดงเข้ม ก้านใบสั้น ใบหนาผิวเรียบเป็นมัน กว้าง 5-15 ม.ม. ยาว 1-3 ซ.ม. ปลายใบมนมีรอยเว้าเข้าเล็กน้อย ฐานใบเรียวเล็กลงจนไปติดกับลำต้น
- ดอกผักเบี้ยใหญ่ สีเหลืองก้านสั้น มีขนหรือเยื่อบาง ๆ รอบที่โคนดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น 2 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ แต่ละกลีบรูปไข่กลับ ปลายเว้า เกสรเพศผู้ จำนวน 8 – 12 อัน รังไข่รูปรีป้อม ยาว 2 มม. ปลายเกสรเพศเมียแยกเป็น 6 แฉก
- ฝักผักเบี้ยใหญ่ รูปกลมหรือรูปรี เมื่อแก่สีเหลือง เมล็ด กลมหรือรูปไต จำนวนมาก สีดำเป็นเงา
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ ทั้งต้น เมล็ด
สรรพคุณ ผักเบี้ยใหญ่ :
- ใบ รสเปรี้ยวเย็น คั้นผสมน้ำตาล ดื่มแก้ไอแห้ง แก้ขัดเบา แก้กระหายน้ำ ตำพอกหรือทาแก้แผลอักเสบบวม
- ทั้งต้น รสเปรี้ยวเย็น แก้เหงือกบวม ทำให้ฟันทน แก้เจ็บคอ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้บวม แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ถ่ายเป็นเลือด แก้หนองใน แก้ริดสีดวงทวารที่มีเลือดออก รักษาแผลเรื้อรัง
- เมล็ด รสเฝื่อน ขับพยาธิ