ชื่อสมุนไพร : มะขามป้อม
ชื่ออื่น ๆ : สันยาส่า, มั่งลู่(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กำทวด(ราชบุรี), กันโตด(เขมร-จันทบุรี), อิ่ว, อำโมเหล็ก(จีน)
ชื่อสามัญ : Malacca Tree, Emblic Vyrobalan, Indian Gooseberry
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus emblica Linn.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ใบมะขามป้อม เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงชิดกันและติดเรียงสลับตามกิ่งก้านที่เรียวยาว ลักษณะใบรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบเฉียงและสอบเรียว ขนาดใบเล็ก แผ่นใบสีเขี้ยวเข้ม บาง ก้านใบสั้นมาก
- ดอกมะขามป้อม ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออกช่อดอกตามง่ามใบ ช่อดอกสั้น มีดอกย่อยประมาณ 5 – 6 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีขาวหรือสีเหลืองนวล กลีบดอก 5 – 6 กลีบ เป็นดอกสมมาตรตามรัศมี มีกลิ่นหอม
- ผลมะขามป้อม ลักษณะผลรูปทรงกลม เกลี้ยง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวอ่อน มีเนื้อหนา รสฝาด เปรี้ยว ขม และอมหวาน ผลแก่สีเขียวอมเหลือง มีรอยแยกแบ่งออกเป็น 6 ซีก
- เมล็ดมะขามป้อม เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งสีน้ำตาล มีสันตามยาว 6 สัน ภายในมี 6 เมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อผลแห้ง, ยางจากผล, ผลอ่อน, ผลแก่
สรรพคุณ มะขามป้อม :
- ใบ รสฝาดขม ใช้ต้มน้ำอาบลดไข้, ต้มดื่มเป็นยาแก้ตัวบวมน้ำ, ใบสดโขลกให้ละเอียดใช้พอกหรือทาบริเวณที่เป็นแผลผื่นคัน มีน้ำหนองน้ำเหลือง และผิวหนังอักเสบ
- เปลือกต้น รสฝาดขม เปลือกต้นแห้งบดเป็นผงละเอียดใช้โรยแก้บาดแผลเลือดออก แผลฟกช้ำ หรือนำมาต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคบิดสมานแผล
- ผลหรือลูก รสเปรี้ยวฝาดขม ใช้ร่วมกับผลสมอไทย ผลสมอเทศ ผลสมอพิเภก แก้ไข้ แก้ลม แก้โรคตา บำรุงธาตุ
- ผลอ่อน รสเปรี้ยวหวานฝาดขม บำรุงเนื้อหนังให้สมบูรณ์ กัดเสมหะในคอ ทำให้เสียงไพเราะ
- ผลแก่ รสเปรี้ยวฝาดขม ลดไข้ ขับปัสสาวะ แก้ไอ แก้เสมหะ ทำให้ชุมคอ ระบายท้อง บำรุงหัวใจ ฟอกโลหิต แก้ลม แก้ลักปิดลักเปิด
- ผลแห้ง รสเปรี้ยวฝาดขม ชงน้ำร้อนดื่มแก้กระหายน้ำ แก้ไอ, ใช้หยอดตารักษาเยื่อตาอักเสบ บำรุงหัวใจ ระบายท้อง
- ดอก รสหอมเย็น เข้าเครื่องยาเป็นยาเย็น และยาระบาย
- เมล็ด เมล็ดสดหรือแห้งโขลกเป็นผงละเอียดชงกับน้ำร้องดื่มเป็นยาแก้ไข้ แก้โรคตาต่างๆ โรคเกี่ยวกับน้ำดี โรคเบาหวาน โรคหลอดลมอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน
- เปลือกต้น เป็นยาสมานแผล
- ราก แก้ไข้ เป็นยาเย็น ฟอกโลหิต
ข้อควรระวัง : ผู้ที่หนาวง่าย มีปัญหาเลือดจาง เเละ ท้องเสียง่าย ไม่ควรทานมะขามป้อมในปริมาณมาก เเละเกินความจำเป็น