มะหวด

มะหวด

ชื่อสมุนไพร : มะหวด
ชื่ออื่นๆ :
สีหวด(นครราชสีมา), กำซำ, กะซ่ำ, มะหวด(ภาคกลาง), ชันรู, มะหวดบาท, มะหวดลิง(ภาคตะวันออกเฉียงใต้), กำจำ(ภาคใต้), ซำ(ทั่วไป), นำซำ มะจำ(ภาคใต้), มะหวดป่า, หวดคา(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), สีฮอกน้อย, หวดลาว(ภาคเหนือ), หวดฆ่า(อุดรธานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lepisanthes rubiginosa (Roxb.)Leenh.
ชื่อวงศ์ : Sapindaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ไม้พุ่มผลัดใบ หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 15 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งก้านมีขนละเอียด เมื่อยังอ่อนอยู่มีขนสั้นๆ กิ่งแขนงรูปทรงกระบอกเป็นร่อง ทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่
    มะหวด
  • ใบเป็นใบประกอบแบบนนกปลายคู่ เรียงเวียนสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 10-30 เซนติเมตร ใบย่อย มี 3-6 คู่ รูปไข่ถึงรูปไข่กลับ กว้าง 2-11 เซนติเมตร ยาว 3-30 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ผิวใบมีขนนุ่มปกคลุมทั้งสองด้าน แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว และย่นเป็นลอน สีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่า ใบอ่อนสีน้ำตาลอมเขียว
  • ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อนๆ ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตั้ง จากปลายยอดหรือซอกใบใกล้ปลายยอด ยาวถึง 50 เซนติเมตร ดอกย่อยขนาดเล็ก สีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ แยกเพศ เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 0.8-1 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว กลีบดอก 4-5 กลีบ เกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม โคนกลีบแคบ มีขนและมีเกล็ดเล็กๆ 1 เกล็ด ที่มีสันนูน 2 สัน เกสรเพศผู้ 8 อัน ก้านเกสรมีขนสีน้ำตาลอ่อน ก้านเกสรตัวเมียยาว ไม่มีขน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปครึ่งวงกลม กลีบนอก 2 กลีบ เล็กกว่ากลีบใน มีขนด้านนอก
  • ผลสดแบบมีเนื้อ รูปรีเว้าเป็นพู ผิวเกลี้ยง กว้าง 0.5-1 เซนติเมตร ยาว 1.5-2 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดงจนแก่จัดสีม่วงดำ มี 2 พู ผิวเกลี้ยง เปลือกและเนื้อบาง เมล็ดสีน้ำตาลดำ เป็นมัน มี 1 เมล็ด รูปทรงรีแกมขอบขนาน

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ผล, เมล็ด, ราก, เปลือกต้น

สรรพคุณ มะหวด :

  • ใบ แก้ไข้ ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้าดื่มแก้ซาง
  • ใบอ่อน  รับประทานเป็นผักได้ ชาวบ้านใช้ใบรองพื้นและคลุมข้าวที่จะใช้ทำขนมจีนเพื่อกันบูด
  • ผล  บำรุงกำลัง แก้ท้องร่วง
  • ผลสุก  มีรสจืดฝาด ถึงหวาน รับประทานเป็นผลไม้ แก้ท้องร่วง
  • เมล็ดมะหวด รสฝาด ต้มดื่มแก้ไข้ซาง แก้ไอกรน แก้ไอหอบในเด็ก แก้ไอเรื้อรัง  บำรุงเส้นเอ็น
  • ราก  รสเมาเบื่อสุขุม รักษาอาการไข้ ตำพอกศีรษะแก้อาการไข้ปวดศีรษะ ตำพอกรักษาผิวหนังผื่นคัน แก้พิษฝีภายใน ขับพยาธิ วัณโรค แก้พิษร้อน แก้กระษัยเส้นเอ็น ต้มน้ำดื่ม แก้เบื่อเมา รากผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม แก้ซาง (โรคของเด็กเล็ก มีอาการเบื่ออาหาร ซึม มีเม็ดขึ้นในปากและคอ ลิ้นเป็นฝ้า)
  • เปลือกต้น  บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ แก้บิด สมานแผล
Scroll to top