ชื่อสมุนไพร : มะเขือขื่น
ชื่ออื่นๆ : มะเขือเหลือง, มะเขือขันขำ, มะเขือคางกบ, มะเขือคำ, มะเขือแจ้(ภาคเหนือ), มะเขือเปราะ, มะเขือเสวย, มะเขือแจ้ดิน(เชียงใหม่), มังคิเก่(แม่ฮ่องสอน), เขือหิน(ภาคใต้), เขือเพา(นครศรีธรรมราช)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum aculeatissimum Jacq.
ชื่อวงศ์ : Solanaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นมะเขือขื่น เป็นไม้ล้มลุก กึ่งไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-3 เมตร ตามลำต้นมีหนามสั้น โคนต้นแก่มีเนื้อไม้แข็ง ลำต้นและกิ่งก้านรูปทรงกระบอกตั้งตรง กิ่งก้านและใบมีขนอ่อนละเอียดขึ้นอยู่ทั่วไป
- ใบมะเขือขื่น เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ แผ่นใบมีหลายรูปร่าง แผ่นใบรูปไข่ขนาด กว้าง 4-12 ซม. ยาว 4.5-18 ซม. มีขนรูปดาวทั้งสองด้านของใบ โคนใบรูปหัวใจ ฐานใบสองด้านเยื้องกันเล็กน้อย ขอบใบหยักเว้าเป็นพูตื้นๆ 5-7 พู ปลายใบแหลมหรือมน มีหนามแหลมตามเส้นกลางใบ หลังใบสีเขียว ท้องใบเรียบเป็นมัน ก้านใบอ้วนสั้น ยาว 3-7 เซนติเมตร อาจพบหนามตามก้านใบ
- ดอกมะเขือขื่น ออกเป็นช่อสั้นแบบช่อกระจะ ดอกย่อย 4-6 ดอก หรือออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ก้านช่อยาว 1 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 5-10 มิลลิเมตร มีขนยาวห่างๆ กลีบดอกสีม่วง มี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยสั้น ปลายแยกเป็นห้าแฉก กลีบรูปหอก ขนาด 4 × 14 มิลลิเมตร มีขนนุ่มเหมือนวงกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ติดอยู่จนติดผล แต่ละแฉกรูปหอกแกมรูปขอบขนาน ขนาด 5×15 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม วงกลีบเลี้ยงรูประฆังขนาด 5.5 เซนติเมตร เกสรสีเหลืองมี 5 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 1-2 มิลลิเมตร อับเรณูรูปหอก เรียวแหลม ขนาด 6-7 มิลลิเมตร รังไข่เกลี้ยง ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 6-7 มิลลิเมตร
- ผลมะเขือขื่น รูปทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน เปลือกเหนียว ผลอ่อนผิวเรียบลื่นสีเขียวเข้ม มีลายสีขาวแทรก เมื่อสุกมีสีเหลืองสด ชั้นเนื้อผลบางมีสีเขียวอ่อนอมเหลืองใส มีกลิ่นเฉพาะตัว มีรสขื่น เมล็ดกลมแบนเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน มีเมล็ดจำนวนมาก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.8 มิลลิเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ผล
สรรพคุณ มะเขือขื่น :
- ราก รสขื่นเอียน เปรี้ยวเล็กน้อย เป็นยาขับเสมหะและน้ำลาย แก้ไข้สันนิบาต แก้น้ำลายเหนียว รากแช่น้ำกินแก้ไอ ลดไขมันในเส้นเลือด กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ที่มีพิษร้อน ใช้ปรุงกับยาอื่น แก้กามตายด้าน
- ผล รสเปรี้ยวขื่นเย็น เป็นยากัดเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว แก้ไข้สันนิบาต เป็นยาบำรุง ผลเมือกจากผล ขูดตากแดด ใส่เหล้า อัตราส่วน 32 ลูก ต่อเหล้าหนึ่งขวด แก้ปวดเมื่อย ผลนำมาใส่แกง น้ำพริก หรือฝานเอาเฉพาะเปลือกใส่ในส้มตำลาว มีรสขื่นช่วยลดความเค็มของปลาร้าได้ ทำให้รสชาติส้มตำกลมกล่อม
ข้อควรระวัง คนไข้ที่มีอาการไอ ไม่ควรรับประทานผล เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง