มะแว้งเครือ

มะแว้งเครือ

ชื่อสมุนไพร : มะแว้งเครือ
ชื่ออื่นๆ
: มะแว้งเถา(กรุงเทพฯ ), แขว้งเควีย (ตาก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum trilobatum L.
ชื่อวงศ์ : Solanaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นมะแว้งเครือ เป็นไม้เถาขนาดเล็ก ลักษณะของลำต้นกลมเป็นเถามันสีเขียว ตามลำต้นมีหนามแหลม จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ต้องการน้ำ และความชื้นในปริมาณปานกลาง มักขึ้นเองตามธรรมชาติในบริเวณที่ราบชายป่า ที่โล่งแจ้ง และบริเวณที่รกร้างริมทาง สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
  • ใบมะแว้งเครือ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเว้า ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร หลังใบเรียบมัน ส่วนท้องใบมีหนามตามเส้นใบ
  • ดอกมะแว้งเครือ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ในช่อดอกหนึ่งจะมีดอกอยู่ประมาณ 5-12 ดอก ดอกย่อยเป็นสีม่วงอมชมพู มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะย่น ปลายกลีบแหลม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน แต่ละดอกมีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 อัน ส่วนก้านดอกและก้านช่อเป็นสีเขียว
  • ผลมะแว้งเครือ ออกเป็นช่อคล้ายมะเขือพวง ผลมีลักษณะกลม ผิวผลเรียบเกลี้ยง ผลมีขนาดเล็กกว่าผลของมะเขือพวง หรือมีขนาดประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีลายเป็นสีขาวๆ ตามยาว เมื่อแก่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด ภายในผลมีเมล็ดลักษณะแบนๆ อยู่หลายเมล็ด ผลมีรสขม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ทั้งต้น, ต้น, ใบ, ผลสดแก่โตเต็มที่ แต่ยังไม่สุก

สรรพคุณ มะแว้งเครือ :

  • ราก รสขมขื่นเปรี้ยว แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา แก้ไอ แก้ขับเสมหะให้ตก แก้หืด ขับปัสสาวะ ขับลม แก้ไข้สันนิบาต บำรุงธาตุ แก้น้ำลายเหนียว กระหายน้ำ แก้วัณโรค
  • ทั้งต้น รสขื่นเปรี้ยว ขับเหงื่อ แก้ไอ แก้หืด ขับปัสสาวะ
  • ต้น แก้หญิงท้องขึ้นในขณะมีครรภ์ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว กระทุ้งพิษไข้ ขับปัสสาวะ
  • ใบ รสขม บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว รักษาวัณโรค
  • ผล รสขมขื่นเปรี้ยว ผลสด แก้ไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ
    ผลแห้ง ปรุงเป็นยาแก้ไอ ขับปัสสาวะ เจริญอาหาร รักษาโรคเบาหวานและมีฤทธิ์ช่วยทำให้น้ำตับอ่อนเดินได้สะดวก บำรุงดี แก้น้ำลายเหนียว บำรุงเลือด แก้โลหิตออกทางทวารหนักทวารเบา
Scroll to top