ชื่อสมุนไพร : ย่านาง
ชื่ออื่น ๆ : จ้อยนาง(เชียงใหม่), เถาวัลย์เขียว(กลาง), ยาดนาง, วันยอ(สุราษฎร์ธานี), เถาร้อยปลา, ปู่เจ้าเขาเขียว, เถาย่านาง, ย่านางขาว, ย่านนาง, หญ้าภคินี, เถาหญ้านาง(ไทย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tiliacora triandra (Colebr.) Diels
ชื่อวงศ์ : Menispermaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นย่านาง ไม้เถาเลื้อย เถากลมขนาดเล็ก มีเนื้อไม้ เลื้อยพันตามต้นไม้ หรือกิ่งไม้ เถามีสีเขียว ยาว 10-15 เมตร เถาอ่อนสีเขียว เมื่อเถาแก่จะมีสีคล้ำ แตกเป็นแนวถี่ เถาอ่อนมีขนนุ่มสีเทา มีเหง้าใต้ดิน กิ่งก้านมีรอยแผลเป็นรูปจานที่ก้านใบหลุดไป มีขนประปราย หรือเกลี้ยง
- ใบย่านาง เป็นใบเดี่ยว หนา สีเขียวเข้มเป็นมัน เรียงแบบสลับ รูปไข่ ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ฐานใบมน ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผิวใบเรียบมัน ไม่มีหูใบ เนื้อใบคล้ายกระดาษ แต่แข็ง เหนียว มีเส้นใบกึ่งออกจากโคนใบรูปฝ่ามือ 3-5 เส้น และมีเส้นแขนงใบ 2-6 คู่ เส้นเหล่านี้จะไปเชื่อมกันที่ขอบใบ เส้นกลางใบด้านล่างจะย่นละเอียดใกล้ๆโคน ขนเกลี้ยง ก้านใบผิวย่นละเอียด
- ดอกย่านาง ออกเป็นช่อเล็กๆ แบบแยกแขนงตามข้อและซอกใบ มีดอก 1-3 ดอก สีเหลือง ก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร แยกเป็นช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมีย ดอกเพศผู้สีเหลือง กลีบเลี้ยงมี 6-12 กลีบ กลีบวงนอกสุดมีขนาดเล็กที่สุด กลีบวงในมีขนาดใหญ่กว่าและเรียงซ้อนกัน รูปรีกว้าง ยาว 2 มิลลิเมตร ค่อนข้างเกลี้ยง กลีบดอกมี 3 หรือ 6 กลีบ สอบแคบ ปลายเว้าตื้น ยาว 1 มิลลิเมตร เกลี้ยง เกสรเพศผู้มี 3 อัน เป็นรูปกระบอง ยาว 1.5-2 มิลลิเมตร ดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงวงในรูปกลม ยาว 2 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนประปราย กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปรีแกมขอบขนาน ยาว 1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมี 8-9 อัน แต่ละอันยาวไม่ถึง 1 มิลลิเมตร ติดอยู่บนก้านชูสั้นๆ ยอดเกสรเพศเมียไม่มีก้าน
- ผลย่านาง เป็นผลกลุ่ม ผลกลมรูปไข่กลับ กว้าง 6-7 มิลลิเมตร ยาว 7-10 มิลลิเมตร ผิวเกลี้ยง มีเมล็ดแข็ง ผลสีเขียว ฉ่ำน้ำ ออกเป็นพวง ตามข้อและซอกใบ ติดบนก้านยาว 3-4 มิลลิเมตร เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มและแดงสด เมล็ดรูปเกือกม้า ผนังผลชั้นในมีสันไม่เป็นระเบียบ พบตามป่าเต็งรัง ป่าดิบใกล้ทะเล ตามริมน้ำในป่าละเมาะ พบมากในที่รกร้าง ไร่ สวน ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ลำต้น, ใบ
สรรพคุณ ย่านาง :
- ราก รสจืด รสจืดขม แก้ไข้ แก้พิษเมาเบื่อ กระทุ้งพิษไข้ แก้เมาสุรา ถอนพิษผิดสำแดง นำมาต้มกินเป็นยาแก้อีสุกอีใส ตุ่มผื่น แก้ไข้ ขับพิษต่างๆ แก้ท้องผูก ปรุงยาแก้ไข้รากสาด ไข้กลับ ไข้หัว ไข้พิษ ไข้สันนิบาต ไข้ป่าเรื้องรัง ไข้ทับระดู บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้พิษภายในให้ตกสิ้น แก้โรคหัวใจบวม แก้กำเดา แก้ลม แก้ไข้จับสั่น แก้เมาสุรา
- ลำต้น รสจืดขม ถอนพิษผิดสำแดง รักษาพิษไข้ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้พิษ แก้ไข้รากสาด ไข้ดำแดง ไข้ฝีดาษ ไข้เซื่องซึม ไข้กลับไข้ซ้ำ แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว แก้ลิ้นแข็งกระด้าง รักษาโรคปวดข้อ
- ก้านที่มีใบ ผสมกับพืชอื่นใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย
- ใบ รสจืดขม รับประทานถอนพิษ แก้ไข้ แก้ไข้รากสาด ไข้พิษ ไข้เซื่องซึม ไข้หัว ไข้พิษ ปวดหัวตัวร้อน อีสุกอีใส หัด ลิ้นกระด้างคางแข็ง เป็นยากวาดคอ แก้ไข้ฝีดาษ ไข้ดำแดง