ชื่อสมุนไพร : สบู่เลือด
ชื่ออื่นๆ : บัวเครือ (เพชรบูรณ์), บัวกือ (เชียงใหม่, เพชรบุรี), บัวบก (กาญจนบุรี, นครราชสีมา), เปล้าเลือดเครือ (ภาคเหนือ), โกฐหัวบัว (ภาคกลาง), พุ่งเหมาด้อย (เมี่ยน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stephania pierrei Diels
ชื่อวงศ์ : MENISPERMACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นสบู่เลือด เป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม มีหัวขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน ลักษณะกลมแป้น เปลือกของหัวมีสีน้ำตาล ส่วนเนื้อในหัวมีสีขาวนวล มีรสชาติมันและเฝื่อนเล็กน้อย โดยลำต้นจะแทงขึ้นจากหัว โค้งงอลงสู่พื้นดิน เป็นไม้กึ่งเลื้อยทอดยาวได้ประมาณ 3-5 เมตร
- ใบสบู่เลือด เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปเกือบกลม หรือ กลมคล้ายใบบัว แต่จะมีขนาดเล็กกว่า เส้นผ่าศูนย์กลางใบประมาณ 3-6 เซนติเมตร ก้านใบยาว 2-3.5 เซนติเมตร ติดที่กลางแผ่นใบ
- ดอกสบู่เลือด ออกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ เป็นดอกแยกเพศ กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ รูปขอบขนาน สีเหลือง ไม่มีกลีบดอก ผลมีลักษณะเป็นทรงกลม มี 1 เมล็ด รูปเกือกม้า
- ผลสบู่เลือด ผลเป็นแบบมีเมล็ดเดียวแข็ง มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือค่อนข้างเป็นรูปไข่กลับ มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ผนังของผลชั้นในจะมีรูเล็ก ๆ ตรงกลาง ด้านบนมีตุ่มเรียงกันเป็น 4 แถว โค้ง และมีทั้งหมดประมาณ 16-19 ตุ่ม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ต้น, ใบ, ดอก, เถา, หัว, ก้าน, ราก
สรรพคุณ สบู่เลือด :
- ต้น กระจายลมที่แน่นในอก
- ใบ บำรุงธาตุไฟ ใส่บาดแผลสดและเรื้อรัง
- ดอก ฆ่าเชื้อโรคเรื้อน ทำให้อุจจาระละเอียด
- เถา ขับโลหิตระดู ขับพยาธิในลำไส้
- หัว , ก้าน แก้เสมหะเบื้องบน ทำให้เกิดกำลัง บำรุงกำหนัด
- ราก บำรุงเส้นประสาท
วิธีใช้
- หัวกับก้านรับประทานกับสุรา ทำให้หนังเกิดอาการชาอยู่ยงคงกระพัน ถูกเฆี่ยน ตีไม่เจ็บไม่แตก พวกนักดื่มนิยมกันนัก
- หัวหั่นเป็นชิ้นบางๆ สัก 3 แว่น ตำโขลกกับน้ำซาวข้าวหรือสุราก็ได้ให้ละเอียดๆ แล้วคั้นเอาแต่น้ำดื่ม ประมาณ 1 ถ้วยชา เช้า-เย็น และก่อนนอน แก้ตกเลือดของสตรี แก้มุตกิด ระดูขาว หรือตกขาวได้อย่างชงัด เป็นผลมากแล้ว