ชื่อสมุนไพร : สวาด
ชื่ออื่น : หวาด, บ่าขี้แฮด(เชียงใหม่), หวาด, ตามั้ด, มะกาเลิง(ภาคใต้), สวาด(ภาคกลาง), มะกาเล็ง(เงี้ยว-เชียงใหม่), ดามั้ด(มลายู-สตูล)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caesalpinia bonduc (L.) Roxb.
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE–CAESALPINIOIDEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นสวาด เป็นไม้เถาเลื้อยพันกับต้นไม้อื่นโดยใช้หนามช่วยในการประคอง ตามลำต้น กิ่งก้าน และเส้นใบมีหนามโค้งแหลม
- ใบสวาด เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลมเล็กน้อย โคนใบไม่เท่ากัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม มีหูใบประกอบแบบขนนก
- ดอกสวาด ออกดอกเป็นช่อ เป็นช่อยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร โดยจะออกที่กิ่งเหนือซอกใบเล็กน้อย เป็นช่อเดี่ยวหรือบางครั้งอาจจะแตกแขนงได้ ก้านช่อยาวและมีหนาม ดอกย่อยมีขนาดเล็ก คล้ายดอกกล้วยไม้สีเหลือง โดยมีกลีบดอกเป็นสีเหลือง มีใบประดับเป็นเส้นงอ ยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร
- ผลสวาด เป็นฝัก ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี มีหนามยาวแหลม หรือขนยาวแหลมแข็งคล้ายหนามตามเปลือก ภายในฝักมีเมล็ด 2 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมรีเท่าปลายนิ้วชี้ เปลือกเมล็ดแข็งเป็นสีม่วงเทา (สีสวาด) เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ผล, ยอด, ราก
สรรพคุณ สวาด :
- ใบ มีสรรพคุณเป็นยาขับลม แก้จุกเสียด
- ผล ใช้แก้กระษัย แก้ปัสสาวะพิการ
- ยอด บดกรองเอาแต่น้ำ แก้ไข้ ถ่ายพยาธิ
- ราก ดองกับเหล้าขาวใช้แก้พยาธิ
ในวรรณคดีหลายเรื่องจะมีการกล่างถึงต้นสวาดในเชิงเปรียบเทียบกับความรัก ความพิศวาส ระหว่างหญิงชาย เพราะมีความพร้องเสียงกันนั่นเอง นอกจากนี้ตามธรรมเนียมไทยในการจัดขันหมากงานแต่งงานบางท้องที่ จะใช้ใบรักและใบสวาดรองก้นขันหมากโท ซึ่งใส่หมากพลู ส่วนขันหมากเงินทุนและสินสอด จะใส่ใบรักและใบสวาดลงไปรวมกับดอกไม้และสิ่งมลคลอื่น ๆ เช่น ดอกบานไม่รู้โรย ถั่วงา ใบเงิน ใบทอง เป็นต้น