สะตอ

สะตอ

ชื่อสมุนไพร : สะตอ
ชื่ออื่นๆ :
สะตอข้าว, สะตอดาน(ทั่วไป), ตอ, ลูกตอ(ภาคใต้,ระนอง), ปาไต (สตูล ,ปะตา, ปัดเต๊าะ(มลายู)
ชื่อสามัญ : Bitter bean, Twisted cluster bean, Stink bean
ชื่อวิทยาศาสตร์
 : Parkia speciosa L.
ชื่อวงศ์ : Fabaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นสะตอ เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ โดยสามารถสูงได้ถึง 30 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มโปร่งแผ่กว้าง ลำต้นเรียบ สีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลขาว ลอกเป็นสะเก็ดเล็กน้อยหรือเป็นร่องตื้นๆ  บริเวณกิ่งก้านมีขนละเอียดขึ้นปกคลุม
    สะตอ
  • ใบสะตอ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น คือ มีก้านใบหลักยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ที่ประกอบด้วยก้านใบย่อย 14-24 คู่  โดยแต่ละก้านใบย่อยยาวประมาณ 2.2-6 เซนติเมตร และมีใบย่อยเรียงสลับตรงข้ามกัน 30-38 คู่ ลักษณะใบย่อยเป็นขอบขนาน สีเขียวสดถึงเขียวเข้มตามอายุใบ แผ่นใบเรียบบาง แต่จะเหนียวและแข็ง ปลายใบมน มีติ่งเล็กตรงกลางของปลายใบ
  • ดอกสะตอ ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะยาวห้อย กว้าง 3-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-10 เซนติเมตร และจะมีก้านช่อดอกยาว 30-40 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก 4-5 กลีบ กลีบดอกเชื่อมติดกัน เป็นหลอดยาว 0.9-1.2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก
    สะตอ
  • ผลสะตอ ผลออกเป็น ฝัก มีลักษณะแบน มีทั้งชนิดที่เป็นฝักบิดเป็นเกลียว (สะตอข้าว) และชนิดที่แบนตรง (สะตอดาน) โดยฝักสะตอจะยาวประมาณ 25-45 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร (แล้วแต่สายพันธุ์) เปลือกฝักมีสีเขียว และค่อยเปลี่ยนเป็นสีดำ ตรงกลางฝักเป็นตุ่มนูน  โดยด้านในเป็นที่อยู่ของเมล็ดที่เรียงซ้อนกันประมาณ 10-20 เมล็ดต่อฝัก เมล็ดมีลักษณะคล้ายหัวแม่มือ หรือรูปรีค่อนข้างกลม ขนาดเมล็ดทั่วไป กว้างประมาณ 2.2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร เมล็ดอ่อนมีสีเขียว ให้รสหวานมัน และมีกลิ่นฉุน และเมื่อแก่จะเริ่มเหลือง และเมื่อสะตอสุก ฝักจะเป็นสีดำ เนื้อสะตอเป็นสีเหลืองบางๆ รับประทานได้ทั้งเม็ด เมล็ดในระยะนี้รสมัน เนื้อมีรสหวาน

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เมล็ด

สรรพคุณ สะตอ :

  • เมล็ด ใช้กินเพื่อขับปัสสาวะ ช่วยลดน้ำตาล ในเลือด กินเป็นประจำช่วยป้องกันโรคเบาหวาน และใช้กินเป็นผักเหนาะ ยอดใช้กินเป็นผักเหนาะ

เมล็ดสะตอจะมีกลิ่นเหม็นเขียวรุนแรงมาก นิยมใช้ประกอบอาหารในแถบภาคใต้ และในประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว พม่า และสิงคโปร์ ก็นิยมนำสะตอมาทำเป็นอาหารรับประทานเช่นกัน

ข้อควรระวัง ! : เนื่องจากสะตอมีกรดยูริกสูง สำหรับผู้ที่เป็นโรคเกาต์หรือผู้ที่มีกรดยูริกในร่างกายสูงเกินค่ามาตรฐานควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสะตอ เพราะอาจจะทำให้โรคเกาต์กำเริบได้ และกรดยูริกในร่างกายที่สูงก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่ว โรคไตอักเสบ และมีอาการหูอื้ออีกด้วย

Scroll to top