ส้มป่อย

ส้มป่อย

ชื่อสมุนไพร :  ส้มป่อย
ชื่ออื่นๆ :
ส้มขอน , ส้มคอน (ไทยใหญ่,แม่ฮ่องสอน) , ส้มพอดี (อีสาน) , ผ่อชิละ ผ่อชิบูทู (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Acacia concinna (Willd.) DC.
ชื่อวงศ์ :   LEGUMINOSAE – MIMOSOIDEAE

 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  

  • ต้นส้มป่อย เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย พาดพันต้นไม้อื่น สูง 3-6 เมตร เถามีเนื้อแข็ง ผิวเรียบสีน้ำตาล ขนาดใหญ่ มีหนามเล็กแหลมตามลำต้น กิ่งก้านและใบ ไม่มีมือเกาะจะเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถาอ่อนสีน้ำตาลแดง มีขนกำมะหยี่หรือขนสั้นหนานุ่ม
  • ใบส้มป่อย เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ช่อใบย่อย 5-10 คู่ ใบย่อย 10-35 คู่ ต่อช่อ ใบย่อยรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก ออกเรียงตรงข้าม ปลายใบมนหรือแหลม ที่ปลายเป็นติ่งหนามแหลมอ่อนโค้ง โคนใบตัด ขอบใบหนาเรียบ แผ่นใบเรียบ ก้านใบยาว 3.6-5.0 ซม. มีขนสั้นนุ่มและหนาแน่น พบก้อนนูนสีน้ำตาลคล้ายต่อม 1 อัน อยู่ที่โคนก้านใบ แกนกลางยาว 6.6-8.5 ซม. ก้านใบย่อยสั้นมาก ยาว 0.5 มม. หรือน้อยกว่า เกลี้ยง และมีขนนุ่มหนาแน่น
    ส้มป่อย
  • ดอกส้มป่อย เป็นช่อกระจุกกลม ออกตามซอกใบข้างลำต้น 1-3 ช่อดอกต่อข้อ ขนาด 0.7-1.3 ซม. มี 35-45 ดอก ก้านช่อดอกยาว 2.5-3.2 มม. มีขนนุ่มหนาแน่น ใบประดับดอก 1 อัน รูปแถบ ยาวไม่เกิน 1 มม. โคนสอบเรียว สีแดง มีขนกระจายทั่วไป ดอกขนาดเล็กอัดแน่นอยู่เป็นแกนดอก กลีบดอกเป็นหลอด สีขาวนวล กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยง หลอดกลีบกว้าง 1.0-1.5 มม.ยาว 2.5-3.0 ซม. ปลายแหลม สีแดง อาจมีสีขาวปนเล็กน้อย กลีบดอก หลอดกลีบกว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 3.5-4.0 มม. มีขนเล็กน้อยที่ปลายกลีบ เกสรเพศผู้ 200-250 อัน ยาว 4-6 มม. เกสรเพศเมีย รังไข่ยาว 1 มม. มี 10-12 ออวุล มีก้านรังไข่ยาว 1 มม. ก้านและยอดเกสรเพศเมียยาว 2.5-3.5 มม. สีขาวอมเหลืองหรือสีเขียวอมเหลือง
    ส้มป่อย
  • ผลส้มป่อย เป็นฝักรูปขอบขนาน แบนยาว หนา ขนาด กว้าง 1.3-1.4 ซม. ยาว 7.0-9.3 ซม. ฝักอ่อนเปลือกสีเขียวอมแดง เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้ม ผิวฝักเป็นลอนคลื่นเป็นข้อ ปลายฝักมีหางแหลม สันฝักหนา ผิวย่นมากเมื่อแห้ง ก้านผลยาว 2.8-3.0 ซม. แต่ละผลมี 5-12 เมล็ด
    ส้มป่อย
  • เมล็ดส้มป่อย สีดำ แบนรี ผิวมัน กว้าง 4-5 มม. ยาว 7-8 มม.

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ฝัก, เปลือกฝัก, ต้น, ใบ, ยอดอ่อน, ดอก, ราก

สรรพคุณ ส้มป่อย :

  • ฝัก รสเปรี้ยว มีสารซาโปนินสูง ตีกับน้ำจะเกิดฟองที่คงทน ฝักแก่ใช้ต้มเอาน้ำสระผมช่วยขจัดรังแค บำรุงผม เป็นยาปลูกผมและกำจัดรังแค ต้มอาบน้ำหลังคลอด ตำพอกหรือชุบสำลีปิดแผลโรคผิวหนัง ใช้ทำขี้ผึ้งปิดแผลแก้โรคผิวหนัง ฝักปิ้งให้เหลือง ชงน้ำจิบเป็นยาขับเสมหะแก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว ต้มน้ำดื่มแก้ไข้มาลาเรีย ทำให้อาเจียน ต้มหรือบดกินเป็นยาถ่าย
  • เปลือกฝัก รสขมเปรี้ยว เผ็ดปร่า ช่วยเจริญอาหาร กัดเสมหะ แก้ไอ แก้ซางเด็ก
  • ต้น รสเปรี้ยวฝาด เป็นยาระบาย แก้โรคตาแดง แก้น้ำตาพิการ
  • ใบ รสเปรี้ยว ฝาดเล็กน้อย ต้มดื่ม ขับเสมหะ ขับระดูขาว แก้น้ำลายเหนียว ฟอกโลหิต แก้บิด ชำระเมือกมันในลำไส้ แก้โรคตา ตำประคบให้เส้นเอ็นหย่อน
  • ยอดอ่อน นำมาต้มน้ำ และผสมกับน้ำผึ้งดื่มเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ หรือนำมาตำรวมกับขมิ้นอ้อย แล้วใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย หมกไฟพออุ่น นำไปพอกแก้ฝี
  • ดอก รสเปรี้ยว ฝาด มัน แก้เส้นเอ็นที่พิการให้สมบูรณ์
  • ใบและฝัก ต้มอาบ ทำความสะอาด บำรุงผิว
  • ราก รสขม แก้ไข้
  • ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสเปรี้ยว รับประทานเป็นผักสด นำมาปรุงอาหารและช่วยดับกลิ่นคาวปลาได้
Scroll to top