ชื่อสมุนไพร : เกล็ดนาคราช
ชื่ออื่น ๆ : กีบม้าลม (เชียงใหม่), เบี้นไม้ (ภาคเนือ), ปรือเปราะ (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dischidia imbricata Warb.
ชื่อพ้อง : D.depressa C.B.Clarke ex King et Gamble, Conchophyllum imbricatum Blume.
ชื่อวงศ์ : ASCLEPIADACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นเกล็ดนาคราช เป็นไม้เถาเลื้อยที่ชอบเกาะไต่ไปตามต้นไม้อื่น ตามกลีบหิน หรือบนไหล่เขา ลักษณะคล้ายกับงูเหลือม และจะมีเกล็ดเล็ก ๆ ลายตลอดเถา เป็นสีด่าง ๆ เหลืองขาว ลำต้นมีลักษณะเล็กเรียว ลำต้นเป็นข้อและจะมีรากงอกออกมา รากมีลักษณะเป็นฝอยเล็ก ๆ ชอบเกาะตามหิน ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว
- ใบเกล็ดนาคราช เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ บริเวณข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปโล่คล้ายกระทะคว่ำ ปลายใบเว้าตื้น ๆ โคนใบตัด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร หรือรูปกลมแบนหรือนูน เนื้อใบเป็นตุ่มเหมือนกับมีถุงลมอยู่ข้างใน ลักษณะอวบน้ำ มองไม่เห็นเส้นใบ แต่มักมีแถบสีม่วงแกมเขียวจากโคนไปจนถึงประมาณกึ่งกลางใบ ท้องใบเป็นสีแดงคล้ำหรือสีม่วง ขอบใบเป็นสีเขียว ขอบใบมักเกยกันเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร อยู่ลึกเข้าไปทางด้านล่างประมาณ 1 มิลลิเมตร ทำให้โคนใบทั้งคู่เกยปิดลำต้น และในสภาวะแห้งแล้งจะเกยกันมากขึ้น
- ดอกเกล็ดนาคราช ออกดอกเป็นช่อกระจะขนาดเล็ก โดยจะออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 4 เซนติเมตร ปลายก้านมักแยกเป็นแกนช่อดอก 2-4 แกน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก จะออกบริเวณปลายสุดของแกนครั้งละประมาณ 1-5 ดอก ดอกจะออกที่ปลายแกนช่อดอกเดิมได้หลายครั้ง ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโทหรือรูปไข่ ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกลึกประมาณ 1 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ข้างในกลีบดอกมีขนยาวสีขาว ชี้ลง และมีเกสรเพศผู้ 5 อัน เชื่อมติดกันอยู่ เส้าเกสรประกอบด้วยรยางค์ 5 อัน สีนวลอมน้ำตาลอ่อน ติดกันเป็นรูปกรวยคว่ำ กลุ่มเรณูติดกันเป็นคู่ ก้านกลุ่มเรณูมีลักษณะแบนและใส แผ่นยึดก้านเป็นสีน้ำตาลเข้ม รังไข่มี 2 อัน แยกออกจากกัน แต่ติดกันตรงปลาย
- ผลเกล็ดนาคราช ลักษณะเป็นฝักรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่จะแตกออกตามตะเข็บเป็นแนวเดียว ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีขนาดเล็กเป็นสีน้ำตาลและมีกระจุกขนยาวเป็นพู่สีขาวคล้ายเส้นไหมที่ปลายด้านหนึ่ง
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น, ใบสด, เถา, น้ำคั้นจากใบ
สรรพคุณ เกล็ดนาคราช :
- ทั้งต้น เป็นยาแก้อักเสบและปวดบวม ใช้เป็นยาถอนพิษไข้ พิษไข้กาฬ พิษตานซาง ใช้ภายนอกแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้เกล็ดนาคราชทั้งเป็นยาเย็น นำมาแช่กับน้ำอาบเป็นยาแก้ไข้- ใบสด นำมาตำให้ละเอียด นำมาพอกบริเวณแผลพุพอง
- เถา นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปคั่วไฟให้เหลือง ใช้ดองกับเหล้ากินรักษาอาการปวดเอวและสันหลังอันเนื่องมาจากเลือดระดูไม่ปกติ และเป็นยาขับเลือดระดูของสตรี ใช้ถอนพิษงู ตะขาบ แมงป่อง
- น้ำคั้นจากใบ ทาแก้กลากเกลื้อน
ข้อมูลเพิ่มเติม :
เถา ใช้ฝนกับสุราทารักษาพิษตะขาบ พิษแมลงป่อง และอสรพิษขบกัด เป็นยาเย็นและยาถอนพิษได้ดี หรือใช้เถาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปคั่วไฟให้เหลืองแล้วใช้ดองกับสุรากินรักษาอาการปวดเอว และสันหลังเนื่องจากเลือดระดูไม่ปรกติ เป็นยาขับเลือดระดู