ชื่อสมุนไพร : เกล็ดปลาหมอ
ชื่ออื่นๆ : เกล็ดลิ่นใหญ่ (นครราชสีมา), ลิ่นต้น, หญ้าสองปล้อง (ภาคกลาง), ลูกหนีบต้น (ปราจีนบุรี), หญ้าเกล็ดลิ่น (ภาคเหนือ ภาคใต้), หางลิ่น (สุราษฎร์ธานี), กาสามปีกเล็ก, เกล็ดปลาช่อน, เกล็ดลิ้น
ชื่อสามัญ : –
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hedysarum pulchellum L., Desmodium puchellum (L.) Benth., Meibonia puchella
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE – PAPILIONOIDEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นเกล็ดปลาหมอ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูง 0.5-2 เมตร ปลายกิ่งโค้งลง กิ่งและก้านใบมีขนนุ่มสีเทาถึงสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น เปลือกต้นสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ
- ใบเกล็ดปลาหมอ ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ มี 3 ใบย่อย ใบย่อยใบกลางใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง รูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือกลม ขอบเรียบ บางครั้งเป็นคลื่น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านบนมีขนสั้นนุ่ม บาง ๆ เมื่อแก่เกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม หนาแน่น ใบย่อยด้านข้าง 2 ใบ รูปร่างคล้ายใบย่อยใบปลาย แต่ขนาดเล็กกว่า กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร โคนเบี้ยว เส้นแขนงใบ ข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบย่อย ยาว 2-3 มิลลิเมตร หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 6-8 มิลลิเมตร มีขน หูใบย่อยเป็นขนแข็ง ยาวคล้ายหาง ยาว 2-3 มิลลิเมตร แกนช่อใบ ยาว 2-3 เซนติเมตร ก้านช่อใบยาว 5-10 มิลลิเมตร
- ดอกเกล็ดปลาหมอ ช่อดอกออกเป็นกระจุก 3-5 ดอก เรียงอยู่บนแกนช่อดอก แบบช่อกระจะค่อนข้างยาว ออกที่ซอกใบ ดอกแต่ละกระจุกมีใบประดับคล้ายใบประกบหุ้มไว้ 2 ใบ ใบประดับมีรูปร่างคล้ายเกล็ดปลา รูปเกือบกลม กว้าง 0.6-1.2 เซนติเมตร ยาว 0.8-1.5 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือเว้าตื้น โคนกลมหรือรูปหัวใจตื้น มีขนทั้งสองด้าน มีใบประดับอีกหนึ่งใบอยู่ปลายสุด ลดรูปเป็นเส้นใบประดับย่อย ยาว 0.5-1 มิลลิเมตร มีขน ใบประดับหุ้มดอกและติดอยู่จนติดผล ก้านดอกยาว 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง ยาว 2-3 มิลลิเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 4 แฉก แฉกบนและแฉกข้างรูปไข่ ปลายแหลม แฉกล่างรูปไข่ แคบยาวกว่าแฉกอื่น ๆ กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวหรือเหลืองอ่อน รูปดอกถั่ว กลีบกลางรูปไข่กลับ กว้าง 2.5-4 มิลลิเมตร ยาว 5-6 มิลลิเมตร ปลายกลม มีก้านกลีบสั้น ๆ กลีบคู่ข้างรูปรีแคบ กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาว 5-6 มิลลิเมตร ปลายมน โคนมีติ่ง กลีบคู่ล่างยาวเท่ากับกลีบคู่ข้าง แต่กว้างกว่า รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง มี ออวุล 2-4 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียโค้ง โคนมีขน
- ผลเกล็ดปลาหมอ ผลเป็นฝักแบน ฝักรูปขอบขนาน กว้าง 4-5 มิลลิเมตร ยาว 7-8 มิลลิเมตร หยักเป็นข้อ 2-4 ข้อ ผิวมีขน มีลวดลายแบบร่างแหชัดเจน เมล็ดรูปรี กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร ยาว 2-3 มิลลิเมตร พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ชายป่าดิบ ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,300 เมตร ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือน กรกฎาคม- ธันวาคม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, เปลือกราก, เปลือกต้น, ดอก, ทั้งต้น
สรรพคุณ เกล็ดปลาหมอ :
- ราก รสจืดเฝื่อน ต้มน้ำดื่มบรรเทาอาการตับทำงานผิดปกติ รักษาอาการผู้ป่วยทางจิต อาการเพ้อ กล้ามเนื้อสั่นกระตุก แก้ปวดฟัน เลือดจับตัวเป็นลิ่ม อาการชักในเด็กทารก รากต้มกินแก้ปวดท้อง ปวดเส้น ปวดข้อ ปวดหลัง รากตำพอก แก้ปวด แก้เคล็ดบวม
- เปลือกราก รสจืดเฝื่อน แก้ปวด แก้เคล็ดบวม
- เปลือกต้น ต้มน้ำดื่ม แก้อาการตกเลือด ถ้าใช้ในปริมาณมากเป็นพิษ แก้ท้องร่วง รักษาโรคตา ใบ รสจืด ต้มดื่มแก้ไข้ แก้ไข้ปัสสาวะพิการ แก้ไข้จับสั่น รักษาแผลพุพอง
- ดอก แก้อาเจียน
- ทั้งต้น ปรุงเป็นยาแก้ตับพิการ แก้พยาธิใบไม้ในตับ