ชื่อสมุนไพร : เขลง
ชื่ออื่น : หมากเค็ง, นางดำ, ยี, หยี, กาหยี, เค็ง, หมากเข้ง, แคง, แค็ง, หมากแข้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dialium cochinchinense Pierre
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE–CAESALPINOIDEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นเขลง เป็นไม้ยืนต้น สูง 15-30 เมตร ไม่ผลัดใบ เปลือกต้นสีเทาอมน้ำตาลแตกเป็นสะเก็ด เปลือกในสีแดง
- ใบเขลง ออกเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะเป็นรูปทรงไข่ เรียงสลับกันเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่งประมาณ 5-7 ใบ ปลายใบและโคนใบแหลม แผ่นใบและขอบใบเรียบ ขนาดความกว้างของใบมีประมาณ 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร
- ดอกเขลง ออกดอกเล็กสีขาวนวล ออกเป็นช่อขนาดใหญ่ตามปลายกิ่ง ดอกตูมรูปไข่ ออกดอกเดือนมิถุนายน – กันยายน
- ผลเขลง ลักษณะผลเป็นรูปทรงกลมรี ผลอ่อนจะมีเปลือกสีเขียว เมื่อสุกจะกลายเป็นสีดำ ผลที่โตเต็มที่จะมีขนาดความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ภายในผลมีเนื้อสีน้ำตาล รสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย มักให้ผลผลิตเมื่อมีอายุได้ประมาณ 15 ปี และให้ผลผลิตได้มากที่สุดเมื่อมีอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป เมล็ดภายในเนื้อผลสีน้ำตาล จะมีเมล็ดสีเทาอมดำรูปทรงกลมแบนอยู่เพียง 1 เมล็ด ซึ่งมีขนาดเล็กมาก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อจากผล, ราก, เปลือกต้น, ยอดอ่อน
สรรพคุณ เขลง :
- เนื้อจากผล ต้มสุกรับประทานเป็นยาบำรุงไขข้อ แก้ไข้ร้อนใน บรรเทาอาการเจ็บคอ หรือรักษาอาการไอได้ดีมาก บรรเทาอาการไข้หวัด แก้โรคผิวหนัง รักษาแผล
- ราก กระตุ้นการไหลของนมแม่
- เปลือกต้น นอกใช้แก้อาการท้องร่วง
- ยอดอ่อน ก็สามารถใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม :
ลูกเขลงหรือลูกหยี สามารถนำมาทำเป็นของรับประทานเล่นหรือมาทำเป็นขนมได้ เช่น ลูกหยีปั่นสด ลูกหยีกวน ลูกหยีฉาบ ลูกหยีเคลือบน้ำตาลแบบมีเมล็ดและไม่มีเมล็ด ส่วนต่างๆ ของต้นเขลงยังนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ลูกดิบมาต้มเป็นน้ำดื่มแก้ไข้หวัดและอาการร้อนใน ใบที่มีรสเปรี้ยวใช้เป็นยาช่วยระบาย เปลือกเมื่อนำมาต้มแล้วเอาน้ำที่ต้มไปล้างแผลสามารถใช้เป็นยาช่วยสมานแผลได้ดีทีเดียว ผลอ่อนนำมาต้มรับประทานจะมีรสชาติมันๆ ถ้าเป็นสีเขียวจะมีรสฝาดนิยมนำมาต้มกินกับเมล็ดอ่อนข้างใน
- ผลต้มรับประทานแก้ไข้ร้อนใน ผลสุกรับประทานได้ ปรุงเป็นขนมหวาน ผลอ่อนนำมาต้มรับประทานได้ ยอดอ่อนให้รสเปรี้ยวใช้ประกอบอาหาร เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง เปลือกและแก่นย้อมสีให้สีน้ำตาลอมแดง
- ใบที่มีรสเปรี้ยวใช้เป็นยาระบาย รากนำมาต้มน้ำดื่มเรียกน้ำนมในระหว่างอยู่ไฟ เปลือกนำมาต้มแล้วเอาน้ำที่ต้มไปล้างแผลเป็นยาสมานแผลที่ดี ชาวบ้านตำบลป่าก่อ อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ใช้ราก เปลือก ผลดิบ ผึ่งแดดให้แห้ง บดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสีย ปวดรำมะนาด และเป็นยาอายุวัฒนะ
- ผลอ่อนมาต้มรับประทาน จะมีรสชาติมัน ๆ แต่ผลเมื่อสุกเปลือกเปลี่ยนเป็นสีดำ มีความกรอบ เนื้อในจะค่อนข้างติดเมล็ด และเนื้อจะแห้งๆ มีรสเปรี้ยวอมหวาน เหตุนี้เองที่คนเรียกว่าต้นเค็งว่า ต้น “ ลูกหยี ” เพราะผลสุกแห้งรสแบบลูกหยีนี่เอง คนอีสานนิยมนำผลเค็งมากินสดๆ แต่คนภาคใต้นำมาปรุงรสเป็นแบบกินขนม
- ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวกำลังพอดี จึงนิยมนำมาใส่ในต้มไก่หรือต้มเป็ดสูตรอาหารอีสาน และยังนิยมใช้ใบอ่อนรับประทานเป็นเมี่ยง โดยนำใบอ่อนซึ่งมีรสเปรี้ยวมาหั่นกินกับใบกระโดนหรือใบไส้ตันหรือใบอะไร ก็ได้ที่มีรสฝาด และกินร่วมกับข่าป่า พริก หัวสิงไค(ตะไคร้) เกลือและเนื้อปลาร้า เมี่ยงใบเค็งสูตรนี้นิยมรับประทานหลังอาหารกลางวัน กินแก้ง่วงได้ดีเพราะรับประทานเมี่ยงใบเค็งแล้วจะทำให้ร่างกายสดชื่น มีเรี่ยวแรงในการทำงาน ส่วนของดอกไม่รับประทาน แต่ผลอ่อนที่เปลือกยังเป็นสีเขียว นิยมนำมาทำเมี่ยงได้เช่นกัน โดยบุบให้แตกคลุกกับผลไม้ที่ให้รสเปรี้ยวซึ่งมักจะปรุงกับมะเฟือง แล้วใส่พริกและเกลือ ก็จะได้เมี่ยงอีกตำรับหนึ่ง
ตามธรรมชาติจะพบไม้เขลงขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าเบญจพรรณแล้งและชื้นและป่าเต็งรัง ทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตอนเหนือสุราษฎร์ธานี ถ้าขึ้นบนพื้นที่ดินลึกหรือดินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เช่น ป่าเบญจพรรณพื้นที่ราบใกล้น้ำ ไม้จะมีลำต้นเปล่าตรง แต่ถ้าขึ้นบนพื้นที่ดินตื้นหรือมีหินก้อน ต้นไม้จะแตกกิ่งต่ำและมีพุ่มใบมาก