เถาสิงโต

เถาสิงโต

ชื่อสมุนไพร : เถาสิงโต
ชื่ออื่น ๆ
: ผักแคบฝรั่ง(ภาคเหนือ), กะทกรก, รก(ภาคกลาง), กระโปรงทอง(ภาคใต้), เถาเงาะ, ตำลังฝรั่ง(ชลบุรี-ศรีราชา), หญ้าถลกบาต(อุตรดิตถ์-พิษณุโลก), เยี่ยววัว(อุดรธานี), ผักขี้หิด(เลย), หญ้ารกช้าง(พังงา), ละพุบาบี(มลายู-นราธิวาส-ปัตตานี), เล้งทุงจู, เล่งจูก้วย(จีน)
ชื่อสามัญ : Stinking Passion Flower
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Passiflora foetida Linn.
วงศ์ : PASSIFLORACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นเถาสิงโต เป็นพรรณไม้เถาเลื้อย และมีเนื้ออ่อน ถ้าเราเด็ดใบมาขยี้ดม จะรู้สึกว่ามีกลิ่นเหม็นเขียว ลำต้นนั้นจะมีขนอ่อนปกคลุมไปทั่วทั้งต้น มักจะเลื้อยพันตามต้นไม้อื่น ๆ
  • ใบเถาสิงโต จะออกสลับกัน ส่วนฐานใบจะมีลักษณะโค้งเข้าคล้ายรูปหัวใจ ตรงปลายใบของมันจะแหลม และจะแยกเป็น 3 แฉก ขอบใบจะมีรอยเป็นคลื่นเล็กน้อย และมีขนสั้น ๆ ใบจะมีความยาวประมาณ 5-13 ซม. และกว้างประมาณ 4-12 ซม.
  • ดอกเถาสิงโต จะเป็นดอกเดี่ยวเป็นสีขาว ส่วนตรงกลางของดอก จะมีส่วนยื่น (corona) สังเกตเห็นได้ ชัด กลีบดอกที่อยู่ใต้กลีบเลี้ยง (Epicalyx) จะมีลักษณะเป็นฝอยสีเขียว ส่วนนี้จะอยู่นานจะกระทั่งเป็นผล เกสรตัวผู้จะมีอยู่ประมาณ 5 อัน ส่วนยอดเกสรตัวเมียนั้นจะแยกออกเป็น 3 เส้นตรงปลายตุ้ม
  • เมล็ดเถาสิงโต (ผล) : ผลที่แก่จะแตกออกเป็น 3-5 ซม. จะเป็นสีเหลือง ส่วนเนื้อหุ้มเมล็ดจะลื่น และรสหวาน

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น ใบ ดอก ผล เมล็ด ใบและราก

สรรพคุณ เถาสิงโต :

  • ทั้งต้น ใช้สดประมาณ 5-15 กรัม นำมาต้มน้ำกิน ใช้รักษาอาการไอ อาการบวมไม่รู้สาเหตุ ใช้ขับปัสสาวะ และขับเสมหะ ถ้าใช้รักษาอาการภายนอกให้ตำพอก นอกจากนี้ทั้งต้นสดยังมีสารcyanogenetic glycosides ซึ่งเป็นสารพิษ ถ้าถูกความร้อนหรือถูกกรดจากการดองสารพิษก็จะสลายไป ถ้ากินสด ๆ อาจเป็นพิษถึงตายได้
  • ใบ ใช้สดพอกรักษาโรคหิด
  • ดอก ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับทรวงอก อาการไอ ขับเสมหะ
  • ผล ใช้เป็นยาทำให้อาเจียน บำรุงปอด รักษาอาการปวด และเป็นบาดแผล
  • เมล็ด จะมีเมือกหุ้ม และมีรสเปรี้ยวหวาน ชุ่มคอ ใช้กินบรรเทาการกระหายน้ำ
  • ใบและราก ใช้ชงกับน้ำร้อนกินเป็นยาขับประจำเดือนและโรคประสาท นำมาต้มน้ำ กินรักษาโรคหืด โรคเกี่ยวกับน้ำดี ส่วนใบใช้ตำพอกศีรษะ รักษาอาการปวดและเวียนศีรษะ
Scroll to top